วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

(Investment Credit)


สินเชื่อเพื่อการลงทุนหรือสินเชื่อระยะยาว (Investment Credit) 

เป็นการจัดหาเงินทุนระยะยาวโดยการกู้ยืมเพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์ถาวรและนำไปใช้ในการดำเนินงานของกิจการได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์และสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ นอกจากนี้ยังอาจนำมาใช้เป็นทุนดำเนินงานถาวร (permanent working capital)  ของกิจการ คือใช้ซื้อสินค้าและขยายจำนวนสินค้าคงเหลือเพื่อขายเชื่อและใช้เป็นทุนหมุนเวียนตลอดไปก็ได้ ผู้กู้จะทำหลักฐานสัญญาว่าจะใช้คืนเงินกู้ในอนาคตแก่ผู้ให้กู้โดยระบุจำนวนเงินต้นและอัตราดอกเบี้ยในรูปของพันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือหุ้นกู้ ซึ่งแบ่งออกได้หลายชนิดเช่น หุ้นกู้มีหลักประกัน หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน หุ้นกู้แปลงสภาพ หุ้นกู้จำนองเป็นต้น โดยทั่วไปการกู้ระยะยาวผู้ให้กู้ต้องการหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยงภัย สินเชื่อเพื่อการลงทุนจะมีระยะเวลาตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ในทางปฏิบัติอายุการใช้งานของสินทรัพย์ที่ได้มาจากการใช้สินเชื่อและความมั่นคงของกิจการจะถูกนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อเป็นพื้นฐาน


วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

15/09/59 เอ็มซิมแบงก์ปล่อยกู้“เชาว์สตีล”ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น


ประจำวันที่ 15/09/59

“เอ็กซิมแบงก์”ปล่อยกู้กลุ่ม"เชาว์ สตีล" 3,360 ล้านบาท ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น


นายพิศิษฐ์  เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ร่วมลงนามกับ นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นางสาว คู เมน ไว กรรมการ และนายสงวนเกียรติ์ ลิ่วมโนมนต์ กรรมการ บริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยภายใต้กลุ่มบริษัท เชาว์ สตีล ในสัญญาสนับสนุนทางการเงินของเอ็กซิมแบงก์ 9,880 ล้านเยน หรือประมาณ 3,360 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 38 เมกะวัตต์ (MW)

จนถึงปัจจุบันเอ็กซิมแบงก์ สนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้ในการขยายการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มบริษัท เชาว์ สตีล รวมแล้วกว่า 47 MW  ซึ่งเมื่อรวมกับกำลังการผลิตปัจจุบันที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จะทำให้กลุ่มบริษัท เชาว์ สตีล มีกำลังการผลิตในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70 MW 

ทั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นปัจจุบัน ที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ภายหลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองฟุกุชิมา ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 24% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2573 

ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ชีวมวล และความร้อนใต้พิภพยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 12% จึงเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทยที่จะขยายการลงทุนด้านพลังงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มบริษัท เชาว์ สตีล ถือเป็นกลุ่มนักลงทุนไทยรายแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นมานานกว่า 2 ปี และมีเป้าหมายขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 20 ปี 

ขณะที่ เอ็กซิมแบงก์ มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้นักลงทุนไทยขยายฐานการลงทุนไปยังต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/718134

12/09/59 ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป ร่วมโครงการสินเชื่อไทยพาณิชย์ มุ่งดึงดูดนักลงทุนจีน


ประจำวันที่ 12/09/59

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใต้โครงการสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินประกอบธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการด้านสินเชื่อและบริการของธนาคารแก่กลุ่มนักธุรกิจชาวจีนที่ต้องการลงทุนซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของเหมราชได้สะดวก รวดเร็ว และสามารถดำเนินธุรกิจได้คล่องตัว พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมงานแถลงข่าวความร่วมมือในโครงการสินเชื่อฯ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaipr.net/finance/725079 

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

9/09/59 สินเชื่อกรุงศรีโฮมฟอร์แคช รุกตลาดจับมือดีเวลลอปเปอร์ท้องถิ่น


ประจำวันที่ 9/09/59

ดอกเบี้ยขาขึ้น! ธ.กรุงศรี โชว์ผลงานธุรกิจสินเชื่อบ้านครึ่งปีแรก 2559 เติบโตแข็งแกร่ง ยอดสินเชื่อใหม่ทะลุ 3 หมื่นล้าน มั่นใจตลาดครึ่งปีหลังขยายตัวต่อเนื่อง ดัน“โฮมฟอร์แคช” จับมือดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำ 6 รายใหญ่ เสนอแคมเปญอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% นาน 5 ปี

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในครึ่งปีแรก 2559 ธุรกิจสินเชื่อบ้านกรุงศรีเติบโตแข็งแกร่ง โดยมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 34,000 ล้านบาท สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่า 180,479 ล้านบาท เติบโต 12.7% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2558 เป็นผลจากการเดินหน้าปรับกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ เน้นการให้บริการ และเสริมทีมขาย พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ ดีเวลลอปเปอร์และกลุ่มลูกค้าได้ดีขึ้น

กลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีหลัง กรุงศรีจะมุ่งขยายตลาดไปยังกลุ่มดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำในระดับท้องถิ่นตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ และผลักดันผลิตภัณฑ์ทางเลือก “โฮมฟอร์แคช” (Home for Cash) สินเชื่ออเนกประสงค์ที่ช่วยตอบโจทย์ลูกค้ารายย่อย หรือผู้ประกอบการที่ต้องการเสริมสภาพคล่อง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่และเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า นอกจากนี้กรุงศรีได้ร่วมกับดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำ 6 รายใหญ่ นำเสนอแคมเปญอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% ระยะเวลา 5 ปี และอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ระยะเวลา 7 ปี เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในการวางแผนการเงินระยะยาว ในช่วงที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอีกด้วย”

เราเน้นสร้างความแตกต่างในด้านผลิตภัณฑ์ และไม่แข่งขันเรื่องราคา รวมทั้งยังคงเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อตามปกติ และรักษาระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไว้ในระดับ 2.6%”

ส่วนแนวโน้มตลาดสินเชื่อบ้านในช่วงครึ่งปีหลังยังคงเติบโตต่อเนื่องจากหลายปัจจัยหนุน ทั้งทิศทางเศรษฐกิจในประเทศที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เม็ดเงินลงทุนภาครัฐทยอยเข้าสู่ระบบ ขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมากมีสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาระหนี้จากโครงการรถยนต์คันแรกทยอยครบกำหนด ในเดือนกันยายนนี้ ส่งผลให้กำลังซื้อเริ่มกลับมาบางส่วน อีกทั้งจะมีคอนโดมิเนียมที่รอโอนจำนวนมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ddproperty.com/ข่าวอสังหาริมทรัพย์-บทความ /2016/9/135229/สินเชื่อกรุงศรีโฮมฟอร์


7/09/59 ขึ้นบัญชีดำ 1,000 อุตสาหกรรม กสิกรไทยชี้มีความเสี่ยงสูงแบงก์ไม่ปล่อยกู้


ประจำวันที่ 7/09/59


แบงก์กสิกรไทยชี้อุตสาหกรรมไทย 1 ใน 4 เสี่ยงสูง หรือมี 1,000 อุตสาหกรรมที่ถูกขึ้นบัญชีจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและธนาคารไม่ปล่อยกู้จากทั้งหมด 4,000 อุตสาหกรรม ล่าสุดถูกขึ้นบัญชีเสี่ยงเพิ่มอีก 108 อุตสาหกรรม เบรกปล่อยกู้กลุ่มเหล็ก-จิวเวลรี่-พืชไร่และเกษตรกรรายเล็ก ขณะที่ปัญหาขาดสภาพคล่องเอสเอ็มอีเริ่มคลี่คลาย ด้านธุรกิจโรงแรมอ่วมเจอพิษทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีนกดค่าห้องจนขาดสภาพคล่อง

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดหมวดหมู่อุตสาหกรรมในประเทศไทยออกเป็น 4,000 อุตสาหกรรม พบว่ามีอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง ที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นอีก 108 อุตสาหกรรม จากเดิมมีอุตสาหกรรมที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง 1,000 อุตสาหกรรม โดยหมวดอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่ธนาคารระมัดระวังไม่ปล่อยสินเชื่อได้แก่ เหล็ก อัญมณีหรือจิวเวลรี่ พืชไร่ และเกษตรกรรายเล็ก ประเมินว่าอุตสาหกรรมที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง และแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อจะกลับสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลา 3-4 ปี

อุตสาหกรรมเหล็กธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ปี 57 ลูกค้าเดิมที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร เมื่อครบกำหนดก็ไม่มีการปล่อยกู้เพิ่ม ส่วนธุรกิจอัญมณีที่มีความเสี่ยง เนื่องจากราคานำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศกับราคาส่งออกไม่ตรงกัน”

นายพัชรยังกล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมไทยเป็นอีกธุรกิจที่มีความเสี่ยงมีปัญหาสภาพคล่อง หลังได้รับผลกระทบจากปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีมานี้ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนมากจะขอสินเชื่อจากธนาคารไปสร้างโรงแรม เพื่อรับนักท่องเที่ยวจากจีนที่กำลังขยายตัว แต่ปรากฏว่าเมื่อสร้างเสร็จ ไม่สามารถขายห้องพักได้ตามแผน เพราะถูกทัวร์จีนกดราคา เช่น ราคาห้องที่แท้จริง 5,000 บาท แต่ขายได้เพียง 2,000 บาท หากไม่ยอมขายในราคาต่ำ ก็จะไม่ส่งนักท่องเที่ยวมาเข้าพัก ส่งผลให้มีโรงแรมหลายแห่งเริ่มหมุนเงินไม่ทัน ต้องนำเงินที่กู้เผื่อไว้สำหรับใช้ปรับปรุงตกแต่งโรงแรมไปเป็น เงินหมุนเวียนแทน ส่งผลให้ความต้องการขอกู้ของผู้ประกอบการโรงแรมเพื่อไปลงทุนใหม่ไม่มี แต่ส่วนใหญ่จะขอกู้เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องแทน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการปล่อยกู้ลูกค้าโรงแรมทั้งหมด 6% จากพอร์ตสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่และเอสเอ็มอีทั้งหมด 1.1 ล้านล้านบาท

สำหรับธุรกิจที่มีอนาคตและธนาคารต้องการสนับสนุนสินเชื่อได้แก่ รับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ที่ได้รับอานิสงส์จากการก่อสร้างโครงการภาครัฐ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารและเครื่องดื่ม และฮาร์ดแวร์ เป็นต้น
นายพัชรกล่าวอีกว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี ได้ลดลงไปมากโดยผู้ประกอบการปรับตัวรับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ดีขึ้น เห็นได้จากมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ปี 57 ถึงปัจจุบัน มียอดสินเชื่อที่เข้ามาตรการช่วยเหลือ 149,000 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างของลูกค้าที่เข้ามาตรการ 24,000 ล้านบาท และมีหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการแล้วสามารถกลับมาผ่อนชำระปกติคิดเป็น 97% ของยอดสินเชื่อที่เข้ามาตรการ โดยมีหนี้เสียที่เกิดขึ้นจริงๆ เพียง 3% เท่านั้น หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่อราว 5,000 ล้านบาท ที่ลูกค้าไม่ สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ต้องเข้าสู่ขบวนการยึดทรัพย์

เอ็นพีแอลของสินเชื่อเอสเอ็มอีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้าง แต่หลังจากนั้นเอ็นพีแอลจะเริ่มปรับตัวลง ดังนั้นสถานการณ์เอ็นพีแอลไม่น่าห่วง เนื่องจากเลยจุดที่เอ็นพีแอลปรับเพิ่มอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 57”

สำหรับผลการดำเนินงานของสายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัทที่ดูแลลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ณ 30 มิ.ย.59 เติบโตมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 512,137 ล้านบาท เติบโต 9% จากสิ้นปี 58 สูงกว่าเป้าหมายทั้งปี 6 % ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังต้องควบคุมการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ ส่วนลูกค้าผู้ประกอบการหรือเอสเอ็มอี ในครึ่งปีแรกมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 628,693ล้านบาท เติบโต 2% จากสิ้นปี 58 และมั่นใจว่าสิ้นปีนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีโตตามเป้าหมายที่ 5-7 % อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลของสินเชื่อรายใหญ่ต่ำกว่า 2% และเอ็นพีแอลสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ 4%.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thairath.co.th/content/714543

6/09/59 กสิกรฯเตรียมลดปล่อยสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่


ประจำวันที่ 6/09/59




กสิกรไทยเผยครึ่งปีหลังเตรียมลดปล่อยสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากยอดสินเชื่อคงค้างเติบโตร้อยละ 9

วันนี้ (6 ก.ย. 59) นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของสายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัทที่ดูแลลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ 30 มิ.ย. 2559 โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 512,137 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 9 จากสิ้นปี 2558 เติบโตมากกว่าเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ร้อยละ 4-6 ขณะที่ธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ (เอสเอ็มอี) ในครึ่งปีแรกมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 628,693 ล้านบาท เติบโต 2% จากสิ้นปี 2558 และคาดว่าทั้งปีจะโตร้อยละ 7-9

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ธนาคารจะพยายามควบคุมการปล่อยสินเชื่อเพื่อไม่ให้ยอดเติบโตทั้งปีเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งคาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีเงินจากบรรษัทเข้ามาทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างลดลง รวมถึงจะเข้มงวดและพิจารณาการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มสินค้าเกษตร และจิวเวลรี่ เนื่องจากมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=112708&t=news

6/09/59 KBANK ยังมั่นใจปีนี้สินเชื่อรายใหญ่โตเข้าเป้า 4-6% และสินเชื่อ SME โต 5-7%


ประจำวันที่ 6/09/59

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ยังมั่นใจสินเชื่อรายใหญ่ในปีนี้จะเติบโตตามเป้าหมายที่ 4-6% และสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เติบโต 5-7% หลังจากครึ่งปีแรกสายงานธุรกิจยังเติบโตได้ตามเป้า โดยสนเชื่อลูกค้ารายใหญ่เติบโต 9% สวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วน SME เติบโตแล้ว 2% ซึ่งอุตสาหกรรมเด่นครึ่งปีแรกของธนาคาร ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง ค้าวัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ และฮาร์ดแวร์



นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ KBANK ยังมั่นใจว่าเป้าหมายสินเชื่อรายใหญ่ในปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 4-6% หลังจากในครึ่งปีแรกขยายตัวแล้ว 9% ซึ่งมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 5.12 แสนล้านบาท โดยแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อรายใหญ่ในครึ่งปีหลังยังเป็นไปในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนเพิ่มของธุรกิจขนาดใหญ่ และการเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้ธุรกิจรายใหญ่ยังมีความต้องการสินเชื่อ

และด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อรายใหญ่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากและยังไม่น่ากังวล แต่ธนาคารจะพยายามควบคุม NPL ของสินเชื่อรายใหญ่ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2%

ส่วนสินเชื่อ SME ยังมั่นใจว่าการเติบโตยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ 5-7% แม้ว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านจะเติบโตเพียง 2% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 6.28 แสนล้านบาท โดยในครึ่งปีหลังธนาคารจะมุ่งเน้นการดูแลลูกค้า SME ในทุกห่วงโซ่ธุรกิจ (Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ธุรกิจ SME มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยธนาคารจะเน้นใน 3 ธุรกิจหลัก คือ การบริโภค อุตสาหกรรมหนัก และโครงสร้างพื้นฐาน ให้ได้รับเงินทุน ทั้งแหล่งเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียน และช่วยเหลือในการเป็นที่ปรึกษาการบริหารการเงินและการเดินบัญชี เพื่อช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีสภาพคล่องที่ดีและมีความสามารถในการกูยืมเพิ่มมากขึ้น

แต่ในส่วนของลูกค้าที่ได้รีบผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 57 ถึงปัจจุบันนั้น มียอดสินเชื่อที่เข้ามาตรการช่วยเหลืออยู่ในปัจจุบันที่ 2.4 หมื่นล้านบาท จากในช่วงเริ่มต้นที่ 1.49 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่เห็นการปรับตัวลดลงและสะท้อนว่าธุรกิจ SME เริ่มรับมือกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้ดีขึ้น

ปัจจุบันยังมองว่าผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงชะลอการลงทุน และเริ่มลดหนี้ให้เหลือน้อยมากที่สุด เพื่อควบคุมต้นทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน และด้าน NPL ของสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้จะควบคุมให้อยู่ในระดับ 4-5%

สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารที่มีการระดมทุนในตลาดทุนนั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ธนาคารยังมีงานที่ปรึกษาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) อีก 1-2 รายเป็นกลุ่มธุรกิจพลังงานและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ทั้งหมด รวมถึงมีงานที่ปรึกษาการเสนอขาย IPO ของกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริทรัพย์ (REIT) 2 กอง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานและโรงงานหรือคลังสินค้าให้เช่า มูลค่ากองรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นายพัชร กล่าวว่า ธนาคารยังมองว่าแม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,500 จุด ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการเสนอขาย IPO เพราะธนาคารมองว่านักลงทุนต่างให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนมากทั้งนักลงทุนในไทยและต่างประเทศ รวมถึงกระแสเงินทุนที่ยังมีทิศทางไหลเข้า ซึ่งจะช่วยให้ผลักดันดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งการปรับตัวลงแรงของดัชนีตลาดหุ้นไทยนั้นเป็นแค่ผลกระทบระยะสั้น และไม่มีผลต่อการเลื่อนเสนอขาย IPO ของลูกค้าธนาคาร

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีงานที่ปรึกษาการควบรวมกิจการ (M&A) ในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 3-6 ดีล เป็นกลุ่มธุรกิจประเภทลีสซิ่ง รับเหมาก่อสร้าง และโลจิสติกส์ รวมทั้งการออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีก 10 บริษัท

ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกธนาคารมีงานที่ปรึกษาการเสนอขาย IPO และออกกอง REIT มูลค่ากว่า 8.08 พันล้านบาท โดยยังครองความเป็นอันดับ 1 ในการเสนอขาย IPO และกอง REIT

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ryt9.com/s/iq05/2503275

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2559

02/09/2559 (เพิ่มเติม) AF ทำ MOU กับ ECF ปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง 130 ลบ.คาดก่อนสิ้นปีเซ็นเพิ่ม 3-4 ราย


ประจำวันที่ 02/09/2559


นายสามชัย เบญจปฐมรงค์ กรรมการ บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการเซ็นสัญญาลงนามความร่วมมือทางธุรกิจกับ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) เพื่อให้บริการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งแก่กลุ่มสมาชิกและกลุ่ม supply chain ของ ECF ภายใต้วงเงิน 130 ล้านบาท หรือคิดเป็นวอลุ่มพอร์ตธุรกรรมในการปล่อยสินเชื่อฯประมาณ 300-400 ล้านบาท



ในช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทยังคงเดินหน้าขยายฐานลูกค้าในหลากหลายอุตฯเพิ่มขึ้น  โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีการเซ็นสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจ กับพันธมิตรทางธุรกิจอีก 3-4 ราย ทำให้บริษัทฯมั่นใจว่าในปีนี้จะกลับมา Turnaround และคาดวอลุ่มพอร์ตสินเชื่อปีนี้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 10% รวมถึงยังสามารถควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ให้เกิน 3-4%

นายสามชัย กล่าววา ฐานเงินทุนของบริษัทในขณะนี้ถือว่ามีความแข็งแกร่ง โดยมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่อยู่ในระดับต่ำ ที่ 2 เท่า ยังสามารถรองรับการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจ SME ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่งผลต่อการขยายฐานลูกค้าใหม่ให้มีคตวามหลากหลายมากขึ้น และยังสามารถรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ได้ด้วย

“การร่วมมือระหว่าง AF และ ECF ในครั้งนี้เป็นการรุกตลาดลูกค้าใหม่ของเรา จากเดิมที่ให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่งในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และ กลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีก และมองว่าตลาดของธุรกิจฟอร์นิเจอร์มีความหลายกหลายในด้าน supply chain ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลบวกกับบริษัทที่มีการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆมากขึ้น" นายสามชัย กล่าว

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายการดำเนินงานของบริษัทฯ ในการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และบริษัทฯเล็งเห็นว่าธุรกิจของ ECF จะช่วยต่อยอดธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะกลุ่ม supply chain ของธุรกิจฟอร์นิเจอร์มีหลากหลายมาก เช่น ธุรกิจกาว ธุรกิจไม้ เป็นต้น

นายสามชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมฟอร์นิเจอร์มีอัตราการเติบโตสูงมากในปัจจุบัน ตามพฤติกรรมลูกค้าที่มีความชื่นชอบที่หลากหลาย ตลาดฟอร์นิเจอร์จึงเติบโตได้เร็ว และมีการแข่งขันสูงพอสมควร ECF ถือเป็นผู้นำในธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งของฐานลูกค้า สามารถจำหน่ายสินค้าในช็อปตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และที่สำคัญยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวการันตีถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ และเมื่อบริษัทฯให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่ง  จะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วในดำเนินธุรกิจมากขึ้น

ด้านนายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ECF กล่าวว่า ความร่วมมือทางธุรกิจผ่านโครงการสินเชื่อแฟคตอริ่ง“เงินทุนหมุนเวียนพร้อมใช้สำหรับ Supplier ของ ECF" จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานให้กับ Supplier ของบริษทที่มีอยู่กว่า 200 ราย ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียน และช่วยเพิ่มสภาพสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถนำลูกหนี้ทางการค้ามาเบิกใช้วงเงินโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน

“ความร่วมมือทางธุรกิจกับ AF ในครั้งนี้นอกจากทำให้ Supplier ของ ECF มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ทำให้โครงสร้างต้นทุนดีขึ้น สามารถขยายธุรกิจและรับงานได้เพิ่ม ช่วยผลักดันรายได้และกำไรให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ ECF สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการร่วมงานกับคู่ค้าที่มีฐานะการเงินมั่นคง มีศักยภาพในการผลิตเพื่อรองรับงานของบริษัทได้อย่างเพียงพอ"นายอารักษ์ กล่าว


ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ryt9.com/s/iq05/2500782

02/09/2559 “ไอร่า แฟคตอริ่ง” ผนึก ECF เซ็น MOU ทางธุรกิจ เล็งปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งให้สมาชิก และSupplier เสริมความมั่นคงทางการเงิน



ประจำวันที่ 02/09/2559


บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) เซ็น MOU ร่วมกับ บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ในการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง เงินหมุนเวียนพร้อมใช้ หวังดันสภาพคล่องทางการเงินให้กับ กลุ่ม Supplier ของECF ด้านผู้บริหาร "สามชัย เบญจปฐมรงค์" เผยตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อให้บริการ ไว้ที่ระดับ 300-400ล้านบาท มั่นใจหนุนวอลุ่มพอร์ตสินเชื่อปีนี้โต 10% คาดช่วงที่เหลือของปีนี้ปิดดีลเพิ่มอีก 3 - 4 ราย



นายสามชัย เบญจปฐมรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AF ผู้ประกอบการธุรกิจแฟคตอริ่ง และผู้ให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นประเภทแฟคตอริ่งแก่ผู้ประกอบการทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เปิดเผยว่า บริษัทฯได้มีการเซ็นสัญญาลงนามความร่วมมือทางธุรกิจ ระหว่าง บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) กับ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) โดยความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการให้บริการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งให้กับกลุ่มสมาชิก และกลุ่ม supply chain ของ ECF ให้มีความแข็งแกร่งในเรื่องฐานะทางการเงิน ในการเสริมสภาพคล่องทางการเงินได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับความร่วมมือดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายการดำเนินงานของบริษัทฯ ในการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และบริษัทฯเล็งเห็นว่าธุรกิจของ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) จะช่วยต่อยอดธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะกลุ่ม supply chain ของธุรกิจฟอร์นิเจอร์มีหลากหลายมาก เช่น ธุรกิจกาว ธุรกิจไม้ เป็นต้น โดยบริษัทฯจะปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งให้กับสมาชิก และ supply chain ของ ECF ในครั้งนี้ไว้ที่ระดับกว่า 130 ล้านบาท หรือ คิดเป็นวอลุ่มพอร์ตธุรกรรมในการปล่อยสินเชื่อฯ ประมาณ 300 – 400 ล้านบาท จากปัจจุบันบริษัทฯมีสัดส่วนลูกค้าในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และ กลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีก เป็นหลัก

"การร่วมมือระหว่าง AF และ ECF ในครั้งนี้เป็นการรุกตลาดลูกค้าใหม่ของเรา จากเดิมที่ให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่งในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และ กลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีก และมองว่าตลาดของธุรกิจฟอร์นิเจอร์มีความหลายกหลายในด้าน supply chain ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลบวกกับบริษัทที่มีการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆมากขึ้น"นายสามชัย กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) กล่าวเพิ่มว่า อุตสาหกรรมฟอร์นิเจอร์มีอัตราการเติบโตสูงมากในปัจจุบัน ตามพฤติกรรมลูกค้าที่มีความชื่นชอบที่หลากหลาย ตลาดฟอร์นิเจอร์จึงเติบโตได้เร็ว และมีการแข่งขันสูงพอสมควร ECF ถือเป็นผู้นำในธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งของฐานลูกค้า สามารถจำหน่ายสินค้าในช็อปตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และที่สำคัญยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวการันตีถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ และเมื่อบริษัทฯให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่ง จะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วในดำเนินธุรกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯยังคงเดินหน้าแผนขยายฐานลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมั่นใจว่าในปีนี้บริษัทฯ จะกลับมาเทิร์นอะราวนด์ โดยคาดว่าวอลุ่มพอร์ตสินเชื่อจะเติบโตเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน หลังจากการปรับกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้า ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการขยายการลงทุน และมีความต้องการเงินทุนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจมากขึ้น โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีการเซ็นสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจ กับ พันธมิตรทางธุรกิจ อีก 3 - 4 ราย

นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (มหาชน) หรือ ECF ผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ปาร์ติเคิลบอร์ด เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา เพื่อส่งออกและจำหน่ายในประเทศ เปิดเผยว่า ความร่วมมือทางธุรกิจกับ บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) ผ่านโครงการสินเชื่อแฟคตอริ่ง "เงินทุนหมุนเวียนพร้อมใช้สำหรับ Supplier ของ ECF" จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานให้กับSupplier กว่า 200 รายของบริษัท ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียน และช่วยเพิ่มสภาพสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถนำลูกหนี้ทางการค้ามาเบิกใช้วงเงินโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน

"ความร่วมมือทางธุรกิจกับ AF ในครั้งนี้นอกจากทำให้ Supplier ของ ECF มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ทำให้โครงสร้างต้นทุนดีขึ้น สามารถขยายธุรกิจและรับงานได้เพิ่ม ช่วยผลักดันรายได้และกำไรให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ ECF สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการร่วมงานกับคู่ค้าที่มีฐานะการเงินมั่นคง มีศักยภาพในการผลิตเพื่อรองรับงานของบริษัทได้อย่างเพียงพอ"นายอารักษ์ กล่าว


ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ryt9.com/s/prg/2500805

02/09/2559 บสย.-KTB เปิดตัว “สินเชื่อกรุงไทยใจดีช่วย SMEs” วงเงิน 1 หมื่นลบ.


ประจำวันที่ 02/09/2559




บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมด้วย  ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดตัวโครงการสินเชื่อกรุงไทยใจดีช่วย SMEs วงเงิน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ โดยมี บสย.สนับสนุนด้านการค้ำประกันสินเชื่อรวม 3 แพ็คเกจ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก กลาง และรายย่อยที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และประเภทที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ



โดยแพ็คเกจค้ำประกันที่ 1 รองรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปที่มียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยผู้กู้ที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ หรือมีหลักทรัพย์แค่ 30% ของวงเงินกู้ โดย บสย.จะเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อในส่วนที่ขาดหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุดรายละ 55 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.75% ในปีแรก

แพ็คเกจค้ำประกันที่ 2 รองรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปที่มียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดย บสย.จะค้ำประกันสินเชื่อเต็มวงเงิน สามารถกู้ได้สูงสุดรายละ 40 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.90% ในปีแรก

และแพ็คเกจค้ำประกันที่ 3 รองรับผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อยที่มียอดขายน้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยผู้กู้ที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ หรือมีหลักทรัพย์แค่ 30% ของวงเงินกู้ โดย บสย.จะเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อในส่วนที่ขาดหลักประกัน  วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย  คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.75% ในปีแรก


ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ryt9.com/s/iq03/2500838

02/09/2559 ‘ชาติศิริ’เชื่อมือรัฐเข็นเศรษฐกิจโต ชี้แนวโน้มดอกเบี้ยไทยยังทรงตัวต่ำ


ประจำวันที่ 02/09/2559





“ชาติศิริ” มองเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโต 3.5% จากมาตรการกระตุ้นลงทุนและใช้จ่ายของภาครัฐ ชี้สัญญาณช่วงโค้งท้ายปี ส่อไปในทิศทางกระเตื้องขึ้น เสริมให้สินเชื่อแบงก์ทั้งระบบโตตาม ขณะที่แบงก์กรุงเทพ ยังคงเป้าโตสินเชื่อที่ 3.0-5.0% ปฏิเสธตอบสถานะหนี้ของ CTH แต่เชื่อด้วยฐานะของลูกหนี้ “วิชัย ทองแตง “ไม่น่าจะมีปัญหา

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงท้ายปี ว่าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐที่ออกมา ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีทิศทางการขยายตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าจีดีพีปีนี้ยังเติบโตได้ในระดับ 3-3.5% นอกจากนี้หากดูฐานลูกค้าที่มาขอใช้สินเชื่อเพื่อขยายการผลิตก็ดีหรือลงทุนก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ และน่าจะส่งผลให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบขยายตัวตาม อย่างไรก็ดีในส่วนของธนาคารกรุงเทพ ยังคงเป้าเติบโตสินเชื่อปีนี้ในกรอบ 3.0-5.0%

“สัญญาณหลาย ๆตัว อาทิ การลงทุน ความเชื่อมั่นของเอกชน ตลอดจนการขยายตัวของสินเชื่อโดยภาพรวม ก็สอดคล้องไปกับเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ในระดับ 3.3.5% ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายหรือดอกเบี้ยในตลาด คาดว่ายังทรงตัวต่อไปสักพักหนึ่ง” นายชาติศิริ ให้ความเห็น

ส่วนข้อถามถึงสถานการณ์ลูกหนี้ CTH หลังจากที่ได้ประกาศยุติออกอากาศในช่องรายการต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากประสบปัญหาการเงิน โดยบริษัท CTH มีนายวิชัย ทองแตง เป็นประธานกรรมการ ผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้ก่อตั้ง


เรื่องนี้นายชาติศิริ กล่าวสั้นๆว่าเรื่องยังอยู่ในชั้นของเจ้าหน้าที่ที่พิจารณาอยู่และยังไม่มีการรายงานขึ้นมา ตนจึงไม่อยากจะกล่าวถึงในขณะนี้ แต่ตัวลูกหนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

อนึ่งธนาคารกรุงเทพ ปล่อยเงินกู้ให้กับ CTH เมื่อต้นปี 2556 ในวงเงิน 14,000 ล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าว เพื่อใช้ในกิจการของCTH กล่าวคือเป็นการลงทุนขยายโครงข่ายวงเงิน 3 พันล้านบาท, จ่ายค่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และใช้เป็นทุนหมุนเวียนอีก 1 พันล้านบาท


ขณะที่นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ สายลูกค้าธุรกิจรายกลาง กล่าวว่า ตนไม่ได้รับผิดชอบลูกค้ารายนี้ (CTH) จึงไม่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียด ส่วนกรณีในรายของ “บริษัทไทยทีวี” หนึ่งในลูกหนี้ของธนาคาร ที่ได้ขอเลิกกิจการและยังค้างชำระค่าประมูลตั้งแต่งวดที่ 2 จนเป็นเหตุให้กสทช. เรียกค่าเสียหายโดยให้ชดใช้เป็นวงเงิน 1,748 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ในฐานะที่ธนาคารเป็นผู้ค้ำประกัน (ออกแบงก์การันตี) ตนขอยืนยันว่า ธนาคารจะยึดตามระเบียบความถูกต้อง ระเบียบว่าอย่างไรก็ขอให้เป็นไปตามนั้น

ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thansettakij.com/2016/09/02/91990



01/09/2559 TK ขายหุ้นกู้ 500 ลบ.อายุ 3 ปี ดบ. 2.41% รับการขยายสินเชื่อเช่าซื้อรถจยย.ฟื้นตัว


ประจำวันที่ 01/09/2559

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บมจ. ฐิติกร (TK) ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย เปิดเผยว่า เพื่อเตรียมความพร้อมด้านเงินทุนหมุนเวียน รองรับการปล่อยสินเชื่อในตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 59 ดังนั้น วันที่ 1 ก.ย. 59 บริษัทจะเสนอขายหุ้นกู้ ชนิดระบุชื่อผู้ถือหุ้น ประเภทไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน และไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่า 500 ล้านบาท  อายุ 3 ปี  ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2562 อัตราดอกเบี้ย 2.41% ต่อปี  โดยเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่

“การระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ จะทำให้ TK มีแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนทางการเงิน ที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะยาว" นางสาวปฐมา กล่าว

การเตรียมความพร้อมด้านเงินทุน นอกจากรองรับการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการปรับเป้าหมายการเจริญเติบโตจากเดิมที่ TK เคยคาดการณ์ไว้ที่ 5% มาเป็น 10% และส่วนหนึ่งยังรองรับการขยายตัวในตลาดต่างประเทศอีกด้วย หลังจากที่บริษัทที่ได้ขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชาและลาว ซึ่งผลประกอบการ ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัทเริ่มมีกำไร และลูกหนี้เช่าซื้อโตขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 58

ล่าสุด บริษัทย่อยในกัมพูชา ยังได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการให้เพิ่มสาขาในกัมพูชาได้อีก 2 แห่ง คือที่พระตะบอง และเสียมเรียบ  โดยเริ่มให้บริการสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา และในครึ่งหลัง ปี 59 สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยายนต์ในกัมพูชา จะเติบโตได้อีกเท่าตัว โดยคาดว่าจะทะลุ 100 ล้านบาทแน่นอน

ทั้งนี้การเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าว เป็นครั้งที่ 3/2559  ภายใต้วงเงินที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 59 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 ให้บริษัทออกและเสนอขายหุ้นกู้ได้วงเงินไม่เกิน 2,200 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้ออกไปแล้ว 2 ครั้ง วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.255% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและยังเป็นดอกเบี้ยคงที่ถึง 3 ปี

กลุ่มบริษัท ฐิติกร  เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 2,100 คน และมีสาขาบริการรวม 88 สาขา มีบริษัทย่อยในประเทศ 4 บริษัท และต่างประเทศ 2 บริษัท ในประเทศกัมพูชาและลาว ให้บริการลูกค้าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ โดยมีลูกค้าประมาณ 300,000 ราย


ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ryt9.com/s/iq05/2499800

30/08/2559 ปล่อยสินเชื่อซื้อที่ดินดึงทุนจีน


ประจำวันที่ 30/08/2559




นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินประกอบธุรกิจให้กับนักลงทุนจีน ที่เข้าลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมฯโรจนะ และนิคมฯอมตะนคร โดยสินเชื่อเพื่อการลงทุนขั้นต้น มีระยะเวลา 1 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 200 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวก ในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจได้เร็วขึ้น เชื่อว่าในเวลา 3 ปี จะปล่อยสินเชื่อได้ 5,000 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันมีลูกค้าจีนสนใจลงทุน 9 ราย คิดเป็นมูลค่าที่ดิน 1,500 ล้านบาท คาดว่าการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ของจีนที่เข้ามาไทยในปี 2563   จะมีมูลค่าสูงกว่า 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จากปัจจุบันอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารให้กับนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยภายใน 3 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว จากปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 15,000 ล้านบาท

สำหรับสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นตัวเร่งให้นักลงทุนจีนเข้ามาในไทย โดยเฉพาะบริษัทจีนที่มีขนาดไม่ใหญ่ แต่เป็นลูกค้าของนิคมฯ ที่รู้ประวัติลูกค้าจีนเป็นอย่างดี จะเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่ธนาคาร เพื่อตัดสินใจอนุมัติเงินกู้ และเมื่อนักลงทุนจีนซื้อที่ดินในนิคมฯแล้วหากต้องการสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร ธนาคารก็พร้อมให้สินเชื่อเพื่อการลงทุน โดยช่วงที่ผ่านมาการสนับสนุน สินเชื่อให้กับลูกค้าจีน ธนาคารปล่อยสินเชื่อร่วมกับธนาคารพาณิชย์ของจีน ในรูปแบบสินเชื่อรวม เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ของจีนมีประวัติลูกค้าเป็นอย่างดี และสินเชื่อที่ธนาคารสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจีนเข้ามาลงทุนในไทย มีอาทิ บริษัททิน่า โซลาร์ จำกัด ผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์อันดับ 1 ของโลก สำหรับธุรกิจที่จีนสนใจเข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมเกษตร แปรรูปยางพารา.

ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thairath.co.th/content/706025

29/08/2559 ขออย.ปลดล็อกใบอนุญาตหนุนเอสเอ็มอีอาหาร


ประจำวันที่ 29/08/2559

สสว.จับมือ 4 หน่วยงาน ผลักดันออกใบอนุญาต อย. นำร่องกลุ่มสินค้าอาหารและเกษตรแปรูป 4 จ.ภาคกลาง 800 ราย ใน 3 เดือน หวังยกระดับเอสเอ็มอี โอทอป


นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยถึงโครงการประเมินศักยภาพในการแข่งขันของเอสเอ็มอี (SME Scoring)ว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สสว. กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อยแห่งประเทศไทย(ธพว.) บริษัท ห้องปฎิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ (เซ็นทรัลแล็บ) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) และผลิตภัณฑ์ชุมชน(โอทอป) กว่า 2.8-2.9 ล้านรายทั่วประเทศให้สามารถขอใบอนุญาต อย.เพื่อแสดงถึงมาตรฐานและคุณภาพสินค้ารองรับการแข่งขันและเพิ่มช่องทางการขายสินค้าในอนาคต


ทั้งนี้ โครงการฯระยะแรก จะดำเนินการใน 4 จังหวัดภาคกลาง คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และราชบุรี ที่เป็นเอสเอ็มอีและโอทอปกลุ่มผลิตสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูป จำนวน 800 ราย โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 3- 6 เดือน ในการช่วยเหลือ เพื่อขอใบอนุญาต อย. จากนั้นจะขยายออกไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ และเริ่มช่วยเหลือกลุ่มผลิตสินค้าเครื่องสำอาง ที่เป็นแหล่งใหม่ในภาคอีสาน และภาคใต้ และกลุ่มยา ต่อไป


สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือ เอสเอ็มอีและโอทอป ที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องกรอกแบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงของสินค้าว่าเป็นสินค้าประเภทไหน เช่น สินค้ากลุ่มความเสี่ยงต่ำ กลุ่มความเสี่ยงกลาง และกลุ่มความเสี่ยงสูง เพื่อเจ้าหน้าที่จะให้ความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการขออนุญาต อย. ได้ถูกต้อง เช่น การตรวจสถานประกอบการ สุขอนามัยของน้ำ และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า ก่อนที่จะส่งสินค้าสำเร็จรูปไปขอจดแจ้งคุณค่าโภชนาการ หรือ รายละเอียดส่วนประกอบอาหาร (Nutrition Facts) ซึ่งตรงนี้ เซ็นทรัลแล็บ จะเข้ามาให้การช่วยเหลือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากสถานประกอบการมีปัญหายังไม่ถูกสุขลักษณะ จะต้องดำเนินการปรับปรุงให้ถูกต้อง

นางสาลินี กล่าวว่า โครงการนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าให้กับผู้ประกบอการเอสเอ็มอีและโอทอป ที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดในอนาคต ทั้งการขายสินค้าในร้านสะดวกซื้อ โมเดิร์นเทรด และตลาดออนไลน์
ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ธพว.ได้จัดเตรียมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (solf loan) วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 4% ต่อ ปี และสามารถให้วงเงินรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ผ่อนได้นานถึง 7 ปี ไว้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เช่น การปรับปรุงสถานประกอบการ การจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ และวัตถุดิบ โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ถึง 31 ธ.ค.นี้


นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและมีนโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทำให้คำขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในปีนี้เพิ่มขึ้น 10-20% โดยสามารถออกเลขทะเบียน อย.ไปแล้ว 4-5 แสนคำขอ จากคำขอมากกว่า 5 แสนคำขอ โดยกลุ่มที่ยื่นคำขอจดทะเบียน อย.มากที่สุด คือ กลุ่มสินค้าอาหาร สัดส่วน 60-70% รองลงมาคือ กลุ่มเครื่องสำอาง และกลุ่มยา

ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/715003

29/08/2559 SCB ปล่อยกู้นักธุรกิจจีนลงทุนในไทย


ประจำวันที่ 29/08/2559

SCB ขานรับนโยบาย BOI ออกสินเชื่อหนุนนักธุรกิจจีน ลงทุนในไทย วงเงิน 200 ล้านบาท ระยะเวลา 1 ปี




นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึง โครงการสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินประกอบธุรกิจ เพื่อสนับสนุนนักลงทุนนักธุรกิจจีนในประเศไทย ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนของนักธุรกิจจีนและสานต่อนโยบายของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย หรือ BOI ที่เดินหน้าให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงได้ออก "โครงการสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินประกอบธุรกิจ" เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจจีนที่จะเข้ามาลงทุนซื้อที่ดินเพื่อประกอบธุรกิจ ในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งของไทย ประกอบด้วย บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเป็นการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบเงินกู้ด่วนระยะสั้น หรือ Bridging Loan วงเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท ระยะเวลา 1 ปี โดยนักลงทุนจีนที่สนใจต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย และได้รับการอนุมัติการลงทุนจาก BOI แล้ว


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทางธนาคารอยู่ระหว่างหารือกับนักลงทุนจีนที่สนใจลงทุนประมาณ 9 ราย รวมมูลค่าการซื้อขายที่ดิน ประมาณ 1ล500 ล้านบาท คาดว่าจะมีนักธุรกิจจีนเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 50 ราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 5,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาธนาคารปล่อยสินเชื่อให้นักธุรกิจจีนไปแล้ว 15,000 ล้านบาท คาดว่ายอดปล่อยสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นอีก 2 - 3 เท่าตัว ภายใน 2 - 3 ปีข้างหน้า

นายอาทิตย์ ยังเปิดเผยภายถึงการเปิด โครงการสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินประกอบธุรกิจ เพื่อสนับสนุนนักธุรกิจจีนในประเศไทย ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลจีน มีนโยบายส่งเสริมให้ภาคธุรกิจจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ตามกรอบยุทธศาสตร์ One belt One road ซึ่งใน 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการลงทุนโดยตรง หรือ FDI ในประเทศไทยของนักลงทุนจีน ขยายตัวสูงสุดเป็นอันดับ 1 และปริมาณการลงทุนมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปี 2563 FDI ของนักลงทุนจีนที่มาลงทุนในไทยจะสูงถึงปีละ 1.1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 เท่าจากการลงทุนในปัจจุบัน ด้านมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน ก็ขยายตัวต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มียอดการค้าสูงถึง 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://money.sanook.com/414237/

05/08/2559 ผุดสินเชื่ออุ้มท่องเที่ยว


ประจำวันที่ 05/08/2559






นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมสมาคมธนาคารไทยเห็นชอบร่วมกัน เตรียมออกแพ็กเกจสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้นำเงินไปปรับปรุงโรงแรม และขยายธุรกิจโรงแรม เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น โดยรายละเอียดของเงื่อนไขของสินเชื่ออยู่ระหว่างการพิจารณา และจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร. ในวันที่ 6 ก.ย.นี้

“แพ็กเกจสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะใช้เงื่อนไขเดียวกันทั้งหมด เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาในการกู้ยืม และวงเงินสินเชื่อ แต่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไม่ต่ำเหมือนกับสินเชื่อซอฟโลน ซึ่งรายละเอียดของเงื่อนไข อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันของสมาชิกสมาคมธนาคารไทย”

ขณะที่ในช่วง 2 ไตรมาสแรก ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสูงกว่าที่ประมาณการ ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ใหม่จากเดิมที่คาดการณ์จะเติบโต 3% อย่างไรก็ตาม จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นทำให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลังปล่อยได้มากขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้น
ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริโภค และธุรกิจท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาส 4 จะมีโครงการภาครัฐออกมาจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐ ธุรกิจเอสเอ็มอี จะได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไปด้วย

ทั้งนี้ในส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ของธนาคารพาณิชย์ ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวยอดหนี้เอ็นพีแอลจะเริ่มนิ่ง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ควรติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือ.

สำหรับประการต่อมา เราต้องการปฏิรูปประเทศ หลายสิ่งหลายอย่างต้องการปฏิรูป การให้เศรษฐกิจของประเทศเดินไปข้างหน้าได้ประเทศจะต้องมีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งตนเองและคณะกำลังทำเรื่องนี้อยู่และไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาอุตสาหกรรมหรือการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หรือการเน้นการขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม แต่นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในเศรษฐกิจฐานราก หาวิธีการทำให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนามีรายได้มากขึ้นและเปลี่ยนเกษตรกรจากคนจนให้เป็นเกษตรกรที่เข้มแข็งยืนหยัดเท่าเทียมคนอื่นด้วย




“ผมได้หารือกับนายกรัฐมนตรีว่าเกษตรกรลำบากมาก ขอให้ให้สินเชื่อให้กู้ยืมไปพัฒนาตัวเองซึ่งท่านนายกฯไม่ลังเลแม้แต่นิดเดียว จะมีมาตรการให้สินเชื่อ 60,000 ล้านบาท ผ่านกองทุนหมู่บ้านเมื่อเดือนกันยายน 2558 จากนั้นมาก็เห็นว่าการให้สินเชื่อยังไม่เพียงพอหรือไม่ยั่งยืน ผมจึงเรียนนายกฯให้มีการช่วยในครั้งที่ 2 แต่ครั้งนี้ หมู่บ้านคิดร่วมกันว่าต้องการอะไร รัฐบาลจึงอนุมัติงบให้อีก 35,000 ล้านบาทเพื่อให้ไปดำเนินการ สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องจัดการชีวิตและอนาคตด้วยตัวเอง ถึงจะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งอย่างแท้จริง ไม่ใช่พูดทุกวันว่าประชาธิปไตยต้องมาแต่ไม่รู้สึกถึงหน้าที่และการบริหารจัดการ การดำเนินงานของรัฐบาลในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”

ทั้งนี้ นอกจากประเด็นข้างต้นแล้วในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 23 ก.พ.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอ โครงการที่เน้นการปฏิรูปภาคการเกษตรโดยเฉพาะ โดยโครงการแรกเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตของเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การปลูกสินค้าอย่างเดียวเช่นยางพารา เมื่อมีปัญหาราคาตกก็ส่งผลให้เกิดความลำบากต่อการยังชีพ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องการทำให้เกษตรกรได้ปลูกพืชตามสิ่งที่ในหลวงตรัสไว้คือการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชหลากหลายชนิด เพื่อให้หล่อเลี้ยงครอบครัวได้




ดังนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเสนอการใช้แนวทางให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งหมายถึงกลุ่มลูกค้าของ ธ.ก.ส.ที่เป็นกลุ่มอาชีพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ปลูกพืชชนิดอื่น นอกเหนือจากที่เคยปลูกอยู่ประจำ โดยให้ชุมชนบริหารจัดการตนเอง ขณะที่ทาง ธ.ก.ส. พาณิชย์ จังหวัด เกษตรจังหวัด หอการค้าจังหวัด จะชี้เป้าให้ว่าแต่ละชุมชนควรปลูกพืชชนิดใด โดย ธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อกับเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ไม่ได้เป็นการบังคับ วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท ถือเป็นโครงการเริ่มต้นนำร่องโดยจะใช้ในช่วงที่จะเกิดวิกฤติภัยแล้งให้เป็นโอกาส ในกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองรวม 26 จังหวัด ครอบคลุมเกษตรกรประมาณ 100,000 คน ทั้งนี้ ชุมชนจะเป็นผู้บอกว่าจะปลูกพืชอะไรต้องเช่าที่ดินหรือไม่ ต้องจ้างงานหรือไม่ ต้องซื้อปัจจัยการผลิตจากที่ไหนในส่วนนี้ให้บริหารกันเอง ขณะที่ ธ.ก.ส. กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน หอการค้าจังหวัดจะช่วยหาตลาดรองรับสินค้าเกษตรที่ปลูกให้เมื่อเกษตรกรผลิตและขายได้กำไรก็จะให้ชุมชนแบ่งปันกันเอง

สำหรับโครงการที่ 2 เป็นการยกระดับ การผลิต การแปรรูป การเพิ่มมูลค่า การบริหารจัดการ ของเกษตรกรเพื่อให้เป็นผู้ประกอบการ โดย ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สันนิบาตสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย จะร่วมมือกันสรรหาและคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบในแต่ละตำบลขึ้นมา โดยโครงการนี้มีวงเงินสินเชื่อ 60,000-70,000 ล้านบาท ที่จะลงไปสู่ชุมชนเพื่อจะทำให้เกิดการสร้างเครือข่าย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคเกษตร หรือพูดง่ายๆจะคัดเลือกเกษตรกรที่จะเป็นผู้ประกอบการในอนาคตได้ให้เป็นตัวแทนในการปรับปรุงการผลิต และยกคุณภาพของสินค้าขึ้นมา ขณะที่รัฐบาลจะสนับสนุนเรื่องความรู้และการตลาด.



ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thairath.co.th/content/694682

29/07/2559 จัดเต็ม! ธนาคาร-สถาบันการเงิน ออกโปรโมชั่นสุดคุ้ม ในงานมหกรรมการเงิน "Money Expo Korat 2016"


ประจำวันที่ 29/07/2559



นายสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานจัดงานมหกรรมการเงิน Money Expo เปิดเผยถึงงานมหกรรมการเงิน โคราช ครั้งที่ 10 Money Expo Korat 2016 ที่จัดขึ้นในวันที่ 5-7 สิงหาคม 2559 ภายใต้แนวคิด "Digital Life Digital Money ชีวิตดิจิทัล การเงินดิจิทัล" ว่า ธนาคารและสถาบันการเงิน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมงานมหกรรมการเงินโคราช ครั้งที่ 10 รวม 30 แห่งมีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะมานำเสนอบริการทางการเงินและการลงทุนให้กับประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดในภาคอีสานตอนล่าง

สำหรับธนาคารและสถาบันการเงินที่เข้าร่วมงาน Money Expo Korat 2016 นอกเหนือจากบริการทางการเงินที่ครบวงจร ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อเอสเอ็มอี บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เงินฝากทุกประเภท รวมทั้งประกันชีวิต/ประกันภัย/ประกันสุขภาพแล้ว ยังได้จัดเตรียมแคมเปญโปรโมชั่นพิเศษมาแข่งขันกันอย่างดุเดือดภายในงานเช่นอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 0% รวมถึงการลุ้นรางวัลชิงโชคและของแจกของแถมมากมาย




"ธนาคารและสถาบันการเงินที่เข้าร่วมงานได้เตรียมโปรโมชั่นสุดพิเศษมามอบให้กับประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดรอบนอกอย่างเต็มที่ เช่น สินเชื่อบ้านดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน, รีไฟแนนซ์บ้าน ลุ้นรับทองแท่งหนัก 10 บาท/รถมอเตอร์ไซค์ยามาฮ่า ฟีโน่ 120, สินเชื่อเอสเอ็มอีดอกเบี้ย 4% รับฟรี iPad mini, เงินฝากลุ้นรถ/ลุ้นทอง, ซื้อประกันชีวิต รับทองคำแท่งหนัก 25 บาท พร้อมเปิดให้มีการลงทะเบียนพร้อมเพย์และทำบัตรเอทีเอ็มชิฟการ์ด โดยผู้สมัครมีสิทธิ์ลุ้นรับสร้อยคอทองคำภายในงาน เป็นต้น"

ทั้งนี้ภายในงานยังจัดให้มีการสัมมนาการลงทุนในหัวข้อ "เลือกหุ้นสตรอง ท้าความผันผวน" ในวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2559 เวลา 13.00-16.00 น. ณเวทีกิจกรรมกลางโดยกูรูด้านการลงทุน ได้แก่ นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด, นายธวัชชัย อัศวพรไชย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด และ นายณัฐวัฒน์ อ้นรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด

พร้อมด้วยความบันเทิงจากกองทัพศิลปินดาราที่จะมาร่วมสนุกและเปิดการแสดงมินิคอนเสิร์ตให้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด ได้แก่ หมอก้อง สรวิชญ์, ตุ๊กกี้ ชิงร้อย, ตูมตาม The Star 7, บิ๊ก The Star 12, ไต้ฝุ่น KPN, มุก วรนิษฐ์, อาร์ อาณัตพล, ทอม Room39 เป็นต้น





แคมเปญโปรโมชั่นเด่นในงาน Money Expo Korat 2016

-ธนาคารออมสิน : สินเชื่อบ้าน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือน, รีไฟแนนซ์บ้าน ลุ้นรับทองคำแท่งหนัก 10 บาท/รถมอเตอร์ไซค์ยามาฮ่า ฟีโน่ 120, ทรัพย์ NPA ลดราคาพิเศษ 20%, สินเชื่อเอสเอ็มอีดีเว่อร์ อัตราดอกเบี้ย 4.99% ต่อปี, สินเชื่อเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี

-ธนาคารกรุงศรีอยุธยา : สินเชื่อบ้านกรุงศรี อัตราดอกเบี้ย 0%ต่อปี 3 เดือนแรก, ทรัพย์ NPA ราคาลดสูงสุด 35%, สินเชื่อ SME รับฟรี Krungsri Gift Card มูลค่าสูงสุด 12,000 บาท

-ธนาคารกรุงเทพ : สินเชื่อบ้านบัวหลวงพูนผล รู้ผลอนุมัติภายใน 1 วัน

-ธนาคารไทยพาณิชย์ : สินเชื่อบ้าน ฟรี Gift Voucher Home Pro มูลค่าสูงสุด 10,000 บาท, สินเชื่อเอสเอ็มอี รับฟรี iPad mini, สินเชื่อบุคคล อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 3 เดือน, ผูกบัญชีพร้อมเพย์ ลุ้นทองทุกเดือน น้ำหนักรวม 1,200 บาท

-ธนาคารธนชาต : สินเชื่อรถแลกเงิน นำรถมาแลกเงิน ลุ้นโชค 2 ต่อต่อที่ 1 ลุ้นทองทุกเดือนต่อที่ 2 ลุ้นรางวัลใหญ่ เชฟโรเลต โคโลราโด รุ่นใหม่

-ธนาคารกรุงไทย : สินเชื่อบ้าน อัตราดอกเบี้ย 0.99% ต่อปี นาน 9 เดือน, สินเชื่อบุคคลกรุงไทย Super Easy อัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี, ผูกบัญชีกรุงไทย พร้อมเพย์ ลุ้นฟรี รถยนต์นิว ฮอนด้าซีวิค 3 คัน, Galaxy S7 edge 150 เครื่อง และ E-money มูลค่า 500 บาท 4,850 รางวัล

-ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย : สินเชื่อบ้าน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 3.33% ต่อปี, เงินฝากประจำพิเศษ 5 เดือนควบแบงก์แอสชัวรันช์ อัตราดอกเบี้ย 8% ต่อปี, บัตรเครดิต รับสิทธิ์ผ่อน 0% ทุกรายการทั่วโลก นาน 4 เดือน

-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธนาคารก.ส.) : เงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค "ลุ้นรถ ลุ้นทองลุ้นของรางวัล", โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี, สมัครบัตร ATM Chip Card, ลงทะเบียนพร้อมเพย์ รับสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลสร้อยคอทองคำ

-ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) : สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan)รับเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท อัตราดอกเบั้ย 4 % ต่อปี ผ่อนสบายๆ 5 ปี

-ธนาคารทหารไทย : สินเชื่อบ้าน TMB ดอกเบี้ยดีตลอด 3 ปีแรก ยกเว้นค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย และค่าประเมินราคาหลักทรัพย์, สินเชื่อบุคคล ทีเอ็มบี รีไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ย 10% ต่อปี นาน 1 ปี, ME by TMB รับดอกเบี้ย 1.60% ต่อปี

-ธนาคารกสิกรไทย : สินเชื่อบ้าน อัตราดอกเบี้ย 0.59% ต่อปี นาน 12 เดือน, สินเชื่อบุคคล อัตราดอกเบี้ย 16% ต่อปี นาน 60 เดือน, บัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2.25% ต่อปี ไม่เสียภาษี

-ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) : สินเชื่อบ้าน อัตราดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี นาน 9 เดือนแรก ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ คิดค่าประเมินราคาหลักประกันเพียง 1,900 บาท ทุกวงเงินกู้, ทรัพย์ NPA ส่วนลดพิเศษสูงสุด 40% จากราคาปกติ

-กรุงศรี ออโต้ : สินเชื่อรถยนต์/คาร์ ฟอร์แคช อัตราดอกเบี้ยพิเศษ วงเงินกู้สูง อนุมัติเร็ว ดาวน์น้อย ผ่อนสบายสูงสุด 84 เดือน ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน

-บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)หรือ AEONTS : สินเชื่อเงินสด ลุ้นรับ สร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท, ผ่อนทอง อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0% 3 เดือน

-บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)  : ประกันชีวิต เบี้ยประกัน 2 ล้านบาท รับทองคำแท่งหนัก 25 บาท,เบี้ยประกัน 1 ล้านบาท รับทองคำแท่งหนัก 12 บาท, เบี้ยประกัน 5 แสนบาท รับทองคำแท่งหนัก 6 บาท, เบี้ยประกัน 3 แสนบาท รับทองคำแท่งหนัก 3 บาท, เบี้ยประกัน 1 แสนบาท รับทองคำแท่งหนัก 1 บาท

ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.kaohoon.com/online/content/view/43464/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%87%E0%B8%A1%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99MoneyExpoKorat2016














5/07/2559 EXIM BANK ให้สินเชื่อนำเข้าเครื่องจักร-เทคโนโลยี เสริมย้ายฐานผลิตไป CLMV ในภาวะเงินบาทแข็งค่า


ประจำวันที่ 5/07/2559




นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK เปิดเผยว่า ในภาวะที่เงินบาทแข็งค่าปัจจุบัน ผู้ส่งออกไทยควรใช้โอกาสนี้นำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยี และวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และอาจเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายภายในประเทศมากขึ้น รวมทั้งย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ

โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในสกุลเงินต่างประเทศลดลง และเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในระยะยาว รวมทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) จากประเทศพัฒนาแล้วในการส่งออก ทำให้สามารถแข่งขันด้านราคาได้

นอกจากนี้ EXIM BANK มีบริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contract) เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถคำนวณต้นทุนและกำไรที่แน่นอนได้ตั้งแต่วันที่ทำสัญญา และวางแผนธุรกิจได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ด้วยตนเอง ดังนี้

1. ใช้เงินตราต่างประเทศหลายสกุลในการทำธุรกรรม ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าส่วนใหญ่มักมีการชำระค่าสินค้าหรือได้รายรับเป็นเงินสกุลหลัก อาทิ ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และเยน ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีความผันผวนมาก ดังนั้น แทนที่จะใช้เงินดังกล่าวในการทำธุรกรรม ก็อาจหันไปใช้เงินสกุลอื่นที่มีความผันผวนน้อยกว่า อีกทั้งหากเป็นการทำธุรกรรมกับประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถตกลงกันให้ชำระเป็นเงินบาทได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกทางหนึ่ง

2. Matching เงินได้กับค่าใช้จ่ายให้เป็นเงินสกุลเดียวกัน โดยการนำรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศจากคู่ค้ารายหนึ่งมา Match กับรายจ่ายที่ต้องชำระให้กับซัพพลายเออร์อีกรายหนึ่งให้เป็นเงินสกุลเดียวกัน กรณีเช่นนี้ผู้ประกอบการต้องบริหารเทอมในการรับและจ่ายสกุลเงินต่างประเทศให้มีระยะเวลาใกล้เคียงกันเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

3. เปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD) ผู้ประกอบการสามารถเปิดบัญชี FCD เพื่อฝากเงินรายรับที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศไว้ก่อนจะนำไปใช้ชำระค่าวัตถุดิบ หรือกรณีของผู้นำเข้าที่ต้องชำระค่าสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ หากเงินบาทแข็งค่าก็อาจซื้อเงินตราต่างประเทศและฝากเข้าบัญชี FCD เพื่อเตรียมไว้ชำระค่าสินค้าในอนาคต

“ผู้ประกอบการควรใช้ช่วงเวลาที่เงินบาทแข็งค่า ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าของธุรกิจตนเองในระยะยาว ขณะเดียวกัน ควรบริหารจัดการความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วยตนเอง หรือทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับ EXIM BANK เพื่อปิดความเสี่ยง” นายพิศิษฐ์กล่าว


ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.kaohoon.com/online/content/view/42577/EXIMBANK%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0