วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

09/11/59 TMB มองภาพรวมสินเชื่อปีหน้าโตได้ 6% การลงทุนภาครัฐ-เอกชน ช่วยหนุน


ประจำวันที่09/11/59

       



 TMB หั่นเป้าสินเชื่อปีนี้เหลือโต 3-5% โดยมองว่า ศก.ไทย ยังชะลอ คาดภาพรวมสินเชื่อปีหน้าโตได้ 6% ตามจีดีพีในปี 60 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.5% จากการลงทุนภาครัฐ และการกลับมาลงทุนมากขึ้นของภาคเอกชนเป็นปัจจัยหนุน 
       นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือ TMB เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดเป้าสินเชื่อปีนี้ลดลงเหลือโต 3-5% จากเป้าหมายที่ประเมินไว้ในช่วงกลางปีที่เติบโต 6-8% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
       แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม แต่ความต้องการสินเชื่อยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่ในกลุ่มของผู้ประกอบการทั้ง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ชะลอการใช้สินเชื่ออย่างเห็นได้ชัด คาดว่าเป็นผลมาจากความไม่มั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทำให้เกิดการชะลอการลงทุนอยู่
       ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่ม ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นผลให้สินเชื่อรวมของธนาคารในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เติบโตเพียง 2.4% โดยมีสินเชื่อที่เติบโตได้อย่างโดเด่นในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คือ สินเชื่อบ้าน และบัตรเครดิต
       อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่าแนวโน้มของสินเชื่อรวมในไตรมาส 4/59 จะสามารถขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3/59 ที่สินเชื่อรวมไม่มีการขยายตัว เพราะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วงเทศกาลที่จะมีผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการต่างๆ อาจจะมีความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อนำเงินไปลงทุน เนื่องจากต้องรองรับการดำเนินงานในปีหน้า ซึ่งจะช่วยหนุนการขยายตัวของสินเชื่อรวมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
       นายเบญจรงค์ กล่าวว่า ธนาคารได้ประเมินการขยายตัวของสินเชื่อรวมในปีนี้ โดยเบื้องต้นตั้งเป้าเติบโตมากกว่า 6% ตามการประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 60 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.5% จากการลงทุนภาครัฐและการกลับมาลงทุนมากขึ้นของภาคเอกชนเป็นปัจจัยหนุน ซึ่งทำให้สินเชื่อในภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 60 จะเติบโตได้ที่ 6%
       ขณะที่แนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 4/59 คาดว่าจะยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/59 ที่ 2.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวยังส่งผลกระทบทำให้ NPL เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารต้องมีการตั้งสำรองฯ เพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 4/59 จากไตรมาส 3/59 ที่ตั้งสำรองฯ อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท เพราะธนาคารยังต้องป้องกันความเสี่ยง และรักษาความแข็งแกร่งของธนาคารไว้ รวมไปถึงรักษาระดับ coverage ratio ให้อยู่ในเป้าหมายที่ระดับ 140-145% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 143% และ ในปีนี้ธนาคารเชื่อว่าจะยังคงควมคุมระดับ NPL ให้อยู่ที่ 2.5-3% แต่ยอมรับว่าแนวโน้ม NPL มีโอกาสเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดได้ในช่วงต้นปี 60
       "กลุ่มที่ธนาคารยังต้องจับตาดูเป็นพิเศษ คือ กลุ่มสินค้าเกษตรกร และอุตสาหกรรมพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว ทำให้การจับจ่ายใช้สอยอาจจะยังกระเตื้องได้ไม่มาก และยังมีเรื่องความผันผวนของราคาสินค้าที่เข้ามากระทบอีก" นายเบญจรงค์ กล่าว

       สำหรับความคืบหน้าการขายหุ้น TMB ที่กระทรวงการคลัง และ ING ถืออยู่นั้น นายเบญจรงค์ ระบุว่ ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน เพราะป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นที่ต้องเป็นผู้พิจารณาจะถืออยู่หรือขายออกไป ซึ่งสำหรับทีมบริหารของธนาคารมีหน้าที่สร้างผลตอบแทนและกำไรให้มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้มีความร่วมมือกับ ING เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องดิจิตอลแบงก์กิ้งที่ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของธนาคารในอนาคต 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000111997

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

7/11/59" RAM จะใช้เงิน 400 ลบ.ร่วมลงทุน 14.54% ในธุรกิจรพ.ใหม่ขนาด 300 เตียงในกทม. เปิดบริการปี 63 "


ประจำวันที่07/11/59

บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันศุกร์ มีมติให้ร่วมลงทุนในบริษัท เอนคอร์ (2016) จำกัด จำนวน 4 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 400 ล้านบาท โดยบริษัทจะเข้าถือหุ้น 14.54% เพื่อร่วมลงทุนประกอบกิจการโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง บนนถนนสุขาภิบาล 3 กรุงเทพฯ มีงบประมาณในการลงทุนราว 3 พันล้านบาท ซึ่งโครงการตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 17 ไร่ คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินกิจการได้ในปี 63

สำหรับการลงทุนครั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีประมาณ 10% ซึ่งมากกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด โดยบริษัทจะได้รับผลตอบแทนกลับมาในรูปเงินปันผลในอัตราที่น่าพอใจ โดยแหล่งเงินที่ใช้จะมาจากการดำเนินงานของบริษัท และกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :http://www.ryt9.com/s/iq10/2544159

วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2559

22/10/59 "บัวหลวง" ซื้อ "อาร์เอส"



ประจำวันที่ 22/10/59





เข้าฮุบ 4.85% จากตระกูลเชษฐโชติศักดิ์
นายดามพ์ นานา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยว่า ช่วงหลังปิดตลาดวันที่ 21 ต.ค.2559 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหลักทรัพย์ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ผ่านการซื้อขายหลักทรัพย์รายใหญ่ หรือ Big Lot จากตระกูลเชษฐโชติศักดิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอาร์เอส จำนวน 49 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 4.85% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
“การซื้อขายหุ้นครั้งนี้ ส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของอาร์เอส ขณะที่นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ยังคงเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งเช่นเดิม โดยเหตุผลของการเข้ามาถือหุ้นครั้งนี้ เป็นการลงทุนระยะยาวตามนโยบายการลงทุนของธนาคารกรุงเทพ และจะไม่มีผลกระทบใดๆ เกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงานของบริษัทฯ”

นายดามพ์ กล่าวว่า กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มบริษัทอาร์เอสฯ อีกทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินหลักของกลุ่มบริษัทอาร์เอสฯ มาโดยตลอด ทำให้ธนาคารมีความรู้และเข้าใจในธุรกิจหลัก โดยเฉพาะธุรกิจสื่อ เช่น โครงการทีวีดิจิทัล สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ธุรกิจสุขภาพและความงาม และธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มบริษัทอาร์เอสฯ ดังนั้น ด้วยศักยภาพและทิศทางการดำเนินธุรกิจของอาร์เอสฯ รวมทั้งพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่ง จึงตอบโจทย์การลงทุนครั้งนี้ของธนาคารกรุงเทพ เป็นอย่างดี.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thairath.co.th/content/760986

21/10/59 EPCO ฉลุย ทุ่ม 267 ล. ลงทุนโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 5 MW



ประจำวันที่ 21/10/59




ผู้ถือหุ้น EPCO ผ่านฉลุย! แผนทุ่มลงทุน 267 ล้านบาท เข้าถือหุ้น 48% โซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ปราจีน ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ พร้อมอนุมัติเพิ่มทุน 96 ล้านหุ้น-แจกวอแรนต์ฟรีในอัตรา 8:1 ราคาใช้สิทธิ 9 บาท รองรับแผนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้า-คืนหนี้สถาบันการเงิน บิ๊กบอส "ยุทธ ชินสุภัคกุล"มั่นใจช่วยผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคต ชี้เพิ่มสัดส่วนรายได้ที่คงที่-ลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ
นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EPCO) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมามีมติอนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 765,585,412 บาท เป็น 861,283,589 บาท โดยออกหุ้นสามัญจำนวน 95,698,177 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท รวม 95,698,177 บาท รองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมครั้งที่ 2 (EPCO-W2) จำนวน 95,698,177 หุ้น ในอัตรา 8 หุ้นเดิมต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ อายุใบสำคัญแสดงสิทธิไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิ ราคาใช้สิทธิที่จะซื้อหุ้น หุ้นละ 9 บาท โดยสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งแรกได้ในวันทำการสุดท้ายของเดือนพฤษภาคม 2560
ทั้งนี้ กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 2 (Record Date) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 และให้รวบรวมรายชื่อตาม ม.225 ของพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยวิธีปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 โดยบริษัทฯเตรียมนำเงินที่ได้ไปใช้ในการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้า และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มติอนุมัติให้บริษัท อะควาติส เอ็นเนอร์จี จำกัด (Aquatist) ซึ่งถือหุ้น 100% ของทุนจดทะเบียน โดย บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 75.00% เข้าทำรายการการได้มาซึ่งสินทรัพย์ โดยการเข้าซื้อหุ้นสามัญในบริษัทที่จะรับโอนสิทธิเข้าเป็น "ผู้สนับสนุนโครงการ" สัดส่วน 48.00% ของทุนจดทะเบียน โดยมีสิทธิในการลงมติและรับเงินปันผลในสัดส่วน 99.99% ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินตามสัญญาใช้สิทธิขายไฟฟ้าร่วมกับสหกรณ์การเกษตรเมืองปราจีนบุรี จำกัด ขนาดกาลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ (MW) โครงการตั้งอยู่ที่ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีมูลค่าการเข้าทารายการเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 267.50 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯจะเข้าลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ในพื้นที่ของสหกรณ์การเกษตรเมืองปราจีนบุรี ซึ่งมีกำลังการผลิตขนาด 5 เมกะวัตต์ (MW) ที่ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะต้องเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559
สำหรับ ปราจีน โซล่า เป็นผู้รับโอนสิทธิในการเข้าเป็นผู้สนับสนุนโครงการในการดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2558 ตามสิทธิของเจ้าของโครงการ สหกรณ์การเกษตรเมืองปราจีนบุรีตั้งอยู่ที่ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นระยะเวลา 25 ปี นับแต่วันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โดยมีบริษัท อะควาติส เอ็นเนอร์จี จำกัด ถือหุ้น 48% ของทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้นสามัญ 2,999,999 หุ้น โดยมีสิทธิในการลงมติและรับเงินปันผลในสัดส่วน 99.99%

ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EPCO) กล่าวอีกว่า การเข้าลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สอดคล้องกับแผนและกลยุทธ์ในการลงทุนและดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ที่กำหนดปริมาณและราคารับซื้อไฟฟ้าไว้อย่างแน่นอนตลอด 25 ปี จะทำให้บริษัทฯมีรายได้ที่คงที่และลดความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยแหล่งเงินทุนที่ใช้บริษัทฯจะใช้กระแสเงินสดหรือเงินทุนหมุนเวียนจากการดาเนินงานของบริษัทฯ หรือกู้ยืมจากธนาคาร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ryt9.com/s/prg/2534994

14/10/59 ปตท.ทุ่ม 2.45 หมื่นล้านลงทุน 5 ปี


ประจำวันที่ 14/10/59




นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการลงทุนในธุรกิจน้ำมันระหว่างปี 2559-2563 ว่า ปตท.จะใช้งบประมาณรวม 24,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในประเทศไทย 20,000 ล้านบาท ลงทุนในอาเซียน 4,500 ล้านบาท โดยอาเซียนจะเป็นการลงทุนในธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (นอนออยล์) อาทิ กิจการอเมซอนคาเฟ่ มินิมาร์ทจิฟฟี่ การจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น โดยการลงทุนในต่างประเทศ ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้กับ ปตท.55,000 ล้านบาทภายในปี 2563 จากปัจจุบันธุรกิจน้ำมันและนอนออยล์มีรายได้อยู่ที่ปีละ 24,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ล่าสุด ปตท.ได้เปิดสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) ปตท.ที่จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา รวม 2 แห่ง ซึ่งเป็นปั๊มน้ำมันแบบครบวงจร และมีปั๊ม ปตท.ในกัมพูชา ขณะนี้รวม 28 แห่ง ตั้งเป้าในปี 2563 จะมีปั๊มน้ำมัน ปตท.รวม 90 แห่ง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจน้ำมันในกัมพูชาของ ปตท.มีรายได้ในปีดังกล่าวรวม 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ปตท.ยังมีแผนขยายกิจการร้านกาแฟ “อเมซอน” ในกัมพูชา ต่อเนื่อง ทั้งที่อยู่ในปั๊ม ปตท.และนอกปั๊ม ปตท.เพราะผู้บริโภคกัมพูชานิยมดื่มกาแฟเพิ่มมากขึ้น เดือนพ.ย.นี้ ปตท.จะเสนอให้คณะกรรมการ ปตท.พิจารณาปรับแผนลงทุนธุรกิจร้านกาแฟอเมซอนในอาเซียนใหม่อีกครั้ง จากเดิมตั้งเป้าหมายปี 2563 จะมีร้านกาแฟอเมซอนในอาเซียนรวม 200 แห่ง เพราะพบว่าผู้ประกอบการท้องถิ่นในอาเซียน สนใจขอซื้อลิขสิทธิ์ไปเปิดกิจการเป็นจำนวนมาก เฉพาะในกัมพูชา มีผู้เสนอขอซื้อสิทธิ์ประมาณ 100 ราย “ธุรกิจน้ำมันในอาเซียนปี 2563 ปตท.ตั้งเป้าขยายปั๊มน้ำมันในอาเซียน 500 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 170 แห่ง”


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thairath.co.th/content/753376

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

12/10/59 'จีน' ความหวังใหม่ของโลก ทุ่มงบ 1.5 ล้านล้านบาทรับทัพนักลงทุน


ประจำวันที่ 12/10/59

นายเฉียน เหวินฮุย ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา ธนาคารไอซีบีซี จำกัด แห่งประเทศจีน เปิดเผยว่า ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดสัมมนา SINO-THAI Business Investment Forum 2016 เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน โดยเชิญนักลงทุนในอุตสาหกรรม เช่น หัวเว่ย, ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และอมตะ คอร์ปอเรชั่น ผู้บริหารจากธนาคารไอซีบีซี ประเทศจีน และตัวแทนจาก 4 มณฑล ได้แก่ กว่างซีจ้วง ยูนนาน เหอเป่ย เฮยหลงเจียง และเมืองชิงเต่า พร้อมตัวแทนธนาคารไอซีบีซี ที่ตั้งกิจการอยู่ในทวีปเอเชียอีก 9 แห่ง รวมถึงนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนไทย โดยมีผู้ร่วมงาน 300 คน
ภายในงาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และเฉียน เหวินฮุย ได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือระหว่างธนาคารไอซีบีซี (ไทย) กับ 6 บริษัทคู่ค้ารายใหญ่ คือ หัวเว่ย เทคโนโลยี, หัวอี๋ กรุ๊ป, ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น, อาเซียน โปแตช ชัยภูมิ, ทีอาร์ซี คอนสตัคชั่น และจงเช่อ รับเบอร์ (ไทยแลนด์)
นายจื๊อกัง กลี่ ประธานกรรมการ ธนาคารซีไอเอ็มบี (ไทย) กล่าวว่า 7 เดือนแรกของปีนี้ มีบริษัทจีนเข้ามาลงทุนในไทย 525 บริษัท มูลค่ารวม 2,150 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารได้สนับสนุนสินเชื่อ 200 ล้านบาท และในปีหน้ายอดสนับสนุนสินเชื่อให้นักลงทุนจีนก็จะเติบโต 20-30% ซึ่ง อุตสาหกรรมที่นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนคือ การผลิตยางรถยนต์ ยานยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ พลังงานทดแทน แปรรูปสินค้าเกษตร อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม แต่จีนยังมีความกังวลในเรื่องของ นโยบายภาษี ค่าแรงงาน และนโยบายการสนับสนุนนักธุรกิจจีน ที่เข้ามาลงทุนในไทย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานดังกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยและไร้วี่แววแห่งการฟื้นตัว แม้ว่าปราชญ์โบราณกล่าวไว้เสมอว่า โอกาสอันยิ่งใหญ่ มักจะตามมาจากวิกฤตการณ์ และเราพูดกันมาตั้งแต่ก้าวสู่ศตวรรษใหม่แล้วว่า เป็นศตวรรษแห่งเอเชีย แต่ก็ยังไร้วี่แววที่ชัดเจน จะมีแต่จีนที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วและโดดเด่น แต่ขณะนี้โลกได้เชื่อมั่นแล้วว่าโอกาสของเอเชียกำลังจะมาถึง เอเชียกำลังจะผงาด แม้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง แต่ก็ยังเต็มไปด้วยพลังที่จะขับเคลื่อนให้เดินหน้าต่อไปได้
ดังนั้น ประเทศไทยจึงจะเร่งรัด เพื่อให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งถนน มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่เชื่อมโยงเหนือสู่ใต้ ตะวันออกสู่ตะวันตก สนามบิน ท่าเรือ มูลค่ารวมการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1,505,000 ล้านบาท
โครงการต่าง ๆ เหล่านี้จะทยอยเรียกประกวดราคาตั้งแต่ไตรมาสนี้และปี 2560 โดยปีหน้าเป็นปีแห่งการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ หลาย ๆ โครงการจะใช้ระบบร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยและต่างประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วม โครงการลงทุนสำคัญๆ คือ การลงทุนในพื้นฐานดิจิทัลที่ ใน 5 ปีข้างหน้า จะมีโครงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนมูลค่ารวม 12,000-15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“โครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ ได้แก่ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้เป็นแหล่งลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต โดยมีการตระเตรียมพื้นที่สำหรับนักลงทุน จึงขอเชิญชวนนักลงทุนจากจีนให้มาลงทุนในประเทศไทย ผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จะดูแลนักลงทุนให้ได้รับความสะดวกและเป็นธรรมในทุก ๆ ด้าน”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.msn.com/th-th/news/other/จีน-ความหวังใหม่ของโลก-ทุ่มงบ-15-ล้านล้านบาทรับทัพนักลงทุน/ar-BBxgG5m

12/10/59 เจ้าสัวเจริญทุ่ม 4 พันล้าน ขึ้นศูนย์การค้า 'เกตเวย์ บางซื่อ'


ประจำวันที่ 12/10/59

"ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์" ธุรกิจเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี สบช่องซัพพลายศูนย์การค้าย่านบางซื่อ ทุ่ม 4,000 ล้าน ขึ้นศูนย์การค้า "เกตเวย์ บางซื่อ" ตอบรับการเติบโตของคอมมูนิตี้ครบวงจร คาดเปิดให้บริการปลายปี 61

นายณภัทร เจริญกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มไลฟ์สไตล์และไฮเวย์ กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด ในเครือกลุ่มทีซีซีแลนด์ เปิดเผยว่า ล่าสุด บริษัทฯ ได้เริ่มพัฒนาโครงการศูนย์การค้าเกตเวย์ บางซื่อ เพื่อสร้างให้เป็นศูนย์กลางด้านบริการอย่างครบวงจร สอดรับกับแผนการขยายพื้นที่ย่านบางซื่อให้เป็น "ชุมชนเมืองใหญ่" แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

หากวิเคราะห์ในด้านศักยภาพของประชากรในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าผู้ที่อยู่อาศัยในย่านบางซื่อมีรายได้เฉลี่ยอยู่ในอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถด้านกำลังซื้อ นอกจากนี้ ความหลากหลายในรูปแบบของประชากรที่รวมทั้งกลุ่มวัยรุ่น เพราะมีสถานศึกษาทุกระดับจำนวนมาก คนทำงานซึ่งมีบริษัทขนาดใหญ่รวมถึงรัฐสภาแห่งใหม่ และกลุ่มผู้อยู่อาศัยซึ่งเฉพาะคอนโดมิเนียมก็มีจำนวนมากกว่า 30,000 ยูนิต ยังไม่รวมที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ มองเห็นโอกาสในการเติบโตหากขยายการลงทุนมาเจาะกลุ่มเป้าหมายในย่านนี้

และที่สำคัญแผนการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมของภาครัฐยังเป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้ย่านบางซื่อกลายเป็นศูนย์การการสัญจรในปัจจุบันในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่ปริมาณศูนย์การค้าในย่านนี้ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่หลากหลายดังที่เห็น ณ ปัจจุบัน

ทั้งนี้ ศูนย์การค้า "เกตเวย์ บางซื่อ" ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นที่ 9 ไร่ โดยมีพื้นที่ปล่อยเช่ารวม 40,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 400 ร้านค้า เพื่อเติมเต็มความต้องการของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น, กลุ่มคนทำงาน และกลุ่มผู้อยู่อาศัยในย่านดังกล่าว มีพื้นที่จอดรถ 1,200 คัน โดดเด่นด้วยทำเลที่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าบางโพเพียง 170 เมตร และสถานีรถไฟฟ้าเตาปูน 650 เมตรเท่านั้น

มาแล้ว! เจ้าสัวเจริญทุ่ม4พันล้าน ขึ้นศูนย์การค้า"เกตเวย์ บางซื่อ"รับรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน-ม่วง เปิดปี’61
© ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ มาแล้ว! เจ้าสัวเจริญทุ่ม4พันล้าน ขึ้นศูนย์การค้า"เกตเวย์ บางซื่อ"รับรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน-ม่วง เปิดปี’61
สถานีดังกล่าวถือเป็นจุด Interchange ที่สำคัญซึ่งเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง, สายสีน้ำเงิน และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยภายในศูนย์การค้ามีการสร้างความหลากหลายของสินค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างครบครัน ประกอบด้วย โซน Urban Market ที่วางคอนเซ็ปต์และบรรยากาศให้มีกลิ่นอายความเป็นตลาดที่ยกระดับมาตรฐานการบริการ ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหวานใน Take Home, สินค้าเครื่องครัวเครื่องใช้ สินค้าและบริการเกี่ยวกับการดำรงชีวิตพื้นฐาน โซน Everyday Fashion ที่มีการรวบรวมสินค้าทั้งแบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้า ชุดกีฬา รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง

ไฮไลต์คือ Urbano Zone ที่รวมเทรนด์เมโทรแฟชั่นไว้อย่างครบครัน เพื่อให้ลูกค้าได้สนุกไปกับการแต่งตัวในโลกแฟชั่น โซน All About Home ซึ่งรวมสินค้าและบริการต่างๆ เกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน ร้านหนังสือ บริการทางการเงินและไอทีไว้อย่างครบครัน โซน (F&B) เป็นแหล่งรวมร้านอาหารชื่อดังไว้มากมาย เพื่อให้นักชิมทุกท่านได้ลิ้มลองและอิ่มอร่อยกับทุกเมนูในทุกๆ มื้อ


โซน Work & Play & Learn แหล่งรวมความสนุก ความรู้ และส่งเสริมทางความคิด ไอเดียสร้างสรรค์ ให้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนพิเศษ, ติวเตอร์, Kids zone สำหรับวัยเด็กและวัยเรียน Co-working space, พื้นที่สำนักงานเช่าสำหรับวัยทำงานและ starter ต่างๆ อีกทั้งยังมีบริการโรงภาพยนตร์และบริการด้านเกมส์ รวมถึงฟิตเนสสำหรับคนรักสุขภาพ และ Sky Garden แห่งแรกและแห่งเดียวในย่านบางซื่อ โดยกำหนดอัตราเช่าไว้ประมาณ 1,200 บาทต่อตารางเมตร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.msn.com/th-th/news/other/เจ้าสัวเจริญทุ่ม-4-พันล้าน-ขึ้นศูนย์การค้า-เกตเวย์-บางซื่อ/ar-BBxhgtJ

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

29/10/59 "ปาร์คนายเลิศ"พร้อมช่วยพนักงานหางานใหม่


ประจำวันที่ 29/09/59


เมื่อวันที่ 29ก.ย. น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กรณีที่น.ส.ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร กรรมการผู้จัดการบริษัทโรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด ประกาศปิด โรงแรมสวิสโฮเทล ปาร์คนายเลิศ วันที่ (31ธ.ค.นี้) ว่า ขณะนี้ได้สั่งการณ์ให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ 4 เข้าไปตรวจสอบแล้ว เบื้องต้นทราบว่าประสบปัญหาด้านการแข็งขันทางธุรกิจ จนต้องมีการขายกิจการ ซึ่งโรงแรมแห่งนี้ถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีพนักงานจำนวนมากกว่า 388 คน ซึ่งหลังปิดกิจการสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือพนักงานเหล่านี้จะทำอย่างไร เพราะพนักงานส่วนใหญ่มีอายุงานตั้งแต่ 10 ปี
ดังนั้นกรมฯจึงเตรียมประสานกรมการจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้ามาช่วยหางานใหม่ หรือ พัฒนาทักษะหากต้องการเปลี่ยนสายงาน ส่วนเรื่องเงินค่าชดเชย ผู้บริหารแจ้งว่ายินดีจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ตามกฎหมาย พร้อมจ่ายเงินโบนัสประจำปีจำนวน 1 เดือนให้ รวมทั้งช่วยหางานว่างจากโรงแรมอื่นๆให้ด้วย ทั้งนี้ กสร.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพนักงานต้องการความช่วยเหลือให้เร่งดำเนินการทันที

"การปิดกิจการของโรงแรมสวิสโฮเทล ปาร์คนายเลิศ ถือเป็นการประกาศค่อนข้างกะทันหัน เพราะที่ผ่านมาไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะมีการเลิกจ้าง จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศเฝ้าระวัง หากพบบริษัทใดมีปัญหาให้เข้าไปพูดคุยและให้คำแนะนำทันที เพื่อระงับเหตุก่อนปัญหาจะรุนแรงถึงขั้นเลิกจ้าง"น.ส.พรรณี ระบุ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.posttoday.com/biz/news/457422

29/10/59 BDMS ซื้อ'ปาร์คนายเลิศ'ผุดศูนย์สุขภาพใหญ่สุดในเอเชีย


ประจำวันที่ 29/09/59


กลุ่มรพ.กรุงเทพดันไทยขึ้นเมดิคัลฮับทุ่ม 10,800 ล้านบาทซื้อโครงการ ปาร์คนายเลิศ ผุดศูนย์สุขภาพครบวงจรแห่งแรกในเอเชีย "เล็ก ปาร์คนายเลิศ" ขอบคุณพนักงาน รับจำต้องปิดกิจการหลังสู้เต็มที่แล้ว
นางนฤมล น้อยอ่ำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ(BDMS) บริษัทผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2559 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทและบริษัทย่อยเข้าซื้อที่ดินบริเวณ โครงการปาร์คนายเลิศ ซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน จำนวนเนื้อที่รวมประมาณ 15 ไร่ และสิ่งปลูกสร้างซึ่งประกอบด้วย อาคาคโรงแรมสวิส โฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ อาคาร Promenade และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว จากนางสัณหพิศ สมบัติศิริ และนางพิไลพรรณ สมบัติศิริ เป็นจำนวนเงินประมาณ 10,800 ล้านบาท ซึ่งได้ชำระไปแล้ว 1,080 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2559 ส่วนที่เหลือบริษัทจะชำระในวันรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯดังกล่าวประมาณไตรมาส 2 ของปี 2560
สำหรับ เงินที่จะใช้ในการซื้อทรัพย์สินในครั้งนี้ มาจากกระแสเงินสดภายในบริษัท การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ หรือ หุ้นกู้แปลงสภาพ คาดว่าการกู้ยืมหรือการออกหุ้นกู้จะไม่มีเงื่อนไขที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นของบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนนำพื้นที่ดังกล่าวไปพัฒนาโครงการศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร BDMS Wellness Clinic โดยกำหนดงบประมาณลงทุนและปรับปรุงทรัพย์สินเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจดังกล่าวประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่ารายการทั้งสิ้นประมาณ 12,800 ล้านบาท
สำหรับ รายละเอียดของทรัพยสินที่จะซื้อ ประกอบด้วย 1.ที่ดินบริเวณโครงการ ปาร์คนายเลิศ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ และอาคารสำนักงาน Promenade
2.อาคารสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนที่ดิน ประกอบด้วย อาคารโรงแรมสูง 6 ชั้น พื้นที่ประมาณ 40,300 ตารางเมตร บางส่วนของอาคารโรงแรมตั้งอยู่บนที่ดินที่ไม่ได้จะทำการซื้อขาย ซึ่งจะต้องส่งมอบที่ดินคืนให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ภายในระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันโอนกรรมสิทธิ์ โดยอาคารส่วนที่อยู่บนที่ดินที่จะทำการซื้อขาย มีพื้นที่ประมาณ 28,600 ตารางเมตร อาคารสำนักงาน Promenade สูง 12 ชั้น พื้นที่ประมาณ 31,000 ตารางเมตร และ อาคารชั้นเดียวซึ่งใช้เป็นห้องอาหารพนักงาน พื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตร และ ทรัพย์สินซึ่งเป็นส่วนควบของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ระบบสาธารณูปโภค งานระบบ ทรัพย์สินอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
รายการครั้งนี้ ผู้จะขายไม่เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันกับบริษัท โดยการเข้าทำรายการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นรายการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทที่ 2 คือ เป็นรายการที่มีมูลค่าเท่ากับ 15% หรือ สูงกว่า แต่ต่ำกว่า 50% ตามประกาศรายการได้มา หรือ จำหน่ายไป ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ.20/2551 และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ.2547 ดังนั้น บริษัทจึงมีหน้าที่ต้องเปิดเผยสารสนเทศการทำรายการของบริษัทต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอนุมัติให้บริษัทจัดตั้งบริษัทย่อยซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% ภายใต้ชื่อ บริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จำกัด("BDMS Wellness Clinic Company Limited")โดยมีทุนจดทะเบียน 6,400 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อและรับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อดำเนินโครงการ BDMS Wellness Clinic มุ่งดูแลให้ผู้ใช้บริการมีสุขภาพที่แข็งแรงในองค์รวมทั้งด้านร่างกายและจิตใจรวมถึงมีอายุยืนยาว เน้นไปที่บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ บริการทางด้านสุขภาพระบบประสาทและสมอง ขยายกิจการและเพิ่มขีดความสามารถของคลินิกต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
บริษัท มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีและประสบความสำเร็จ เพราะ แนวคิดด้านการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านเวชศาสตร์ป้องกัน และเวชศาสตร์ชะลอวัย ซึ่งพบเห็นได้จากการตัวของกระแสรักษ์สุขภาพ ทั้งในด้านโภชนาการ และอาหารเสริม การออกกำลังกาย และการใช้บริการทางการแพทย์เพื่อป้องกันก่อนที่จะเจ็บป่วย ในส่วนของโรงพยาบาลในเครือของบริษัทก็พบว่ามีผู้มารับบริการทางการแพทย์ในด้านที่เกี่ยวข้องกับกระแสดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเพียงน้อยรายในโลกที่เปิดให้บริการศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร ซึ่งสถาบันที่มีชื่อเสียงล้วนตั้งอยู่ในทวีปยุโรปหรือประเทศสหรัฐอเมริกา
โครงการนี้ของบริษัท จึงเป็นโครงการแรกในเอเชีย เชื่อว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากความพร้อมทางด้านการให้บริการทางการแพทย์ที่มีอยู่ทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิภัณฑ์และการให้บริการทางการแพทย์และจากโครงการความร่วมมือกับสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำต่างๆ ผสมผสานกับจุดเด่นของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการให้บริการ เพื่อให้ธุรกิจศูนย์สุขภาพแบบครบวงจรนี้จะเป็นธุรกิจที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว และมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
นอกจากนี้ ที่ดินผืนดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียวที่โดดเด่นท่ามกลางศูนย์รวมความเจริญสมัยใหม่ในย่านธุรกิจของกรุงเทพ และมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะนำมาพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร ทั้งในแง่ความร่มรื่นที่จะช่วยสร้างบรรยากาศอันผ่อนคลายให้แก่ผู้ที่เข้ามารับบริการและในแง่ของที่ตั้งซึ่งมีความสะดวกสบายแก่ผู้เข้ารับบริการและช่วยดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ
ขณะที่ น.ส.ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงแรม ปาร์คนายเลิศ ได้เขียนประกาศด้วยลายมือใส่กระดาษแผ่นใหญ่ 2 แผ่น แจ้งข่าวการปิดกิจการโรงแรมให้กับพนักงานในโรงแรมได้รับทราบโดยติดไว้ที่บอร์ดภายในโรงแรมโดยมีใจความว่า
"ถึงพนักงานปาร์คนายเลิศทุกคน เล็ก ในฐานะกรรมการผู้จัดการและลูกหลานของปาร์คนายเลิศ ขอเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ ผู้บริหารและครอบครัว แจ้งข่าวสำคัญให้พนักงานทุกคนทราบ
หลายๆ คนทำงานที่นี่มาตั้งแต่วันแรกที่โรงแรมเปิด มีโอกาสได้รู้จัก ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงแรมปาร์คนายเลิศแห่งนี้ หลายๆ คนทำงานในช่วงเวลาที่ คุณพิไลพรรณ สมบัติศิริ เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือบางคนเพิ่งเข้ามาทำงานในช่วงหลัง แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนก็ตาม ตลอด 36 ปี ของโรงแรมปาร์คนายเลิศ พวกเราผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาด้วยกัน ทั้งเรื่อง ทุกข์และสุข เรื่องง่ายและยาก เราก็สามารถผ่านมาด้วยกันแล้วทุกครั้ง
แต่ทุกวันนี้สถานการณ์ธุรกิจโรงแรมมีการแข่งขันสูงมาก โรงแรมใหม่ๆ เปิดทั่วทุกมุมถนน คณะผู้บริหารทุกท่านต่างอดทนและทำงานหนัก เพื่อประคับประคองสถานการณ์ เพื่อความอยู่รอดของโรงแรมมาโดยตลอด แต่สุดท้าย ทุกอย่างย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
วันนี้ เล็ก จึงขอเป็นตัวแทนแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบว่า เรามีความจำเป็นที่ต้องหยุดดำเนินกิจการโรงแรมปาร์ค นายเลิศ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นไป ซึ่งผู้บริหารจะรับผิดชอบค่าชดเชยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด พร้อมโบนัสอีก 1 เดือน สำหรับพนักงานที่มีสิทธิได้รับโบนัสตามกฎของบริษัท และสินน้ำใจจากครอบครัวอีกจำนวนหนึ่งให้กับพนักงาน
นอกจากนั้น เรายังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบริษัท ACCOR ซึ่งขณะนี้เป็นเจ้าของ SWISSOTEL หรือ FRHI แล้ว ทางบริษัท ACCOR จะรับพิจารณาพนักงานที่สนใจเข้าสมัครงาน ณ โรงแรมในเครือ ACCOR ต่อไป หากมีคำถามหรือข้อสงสัย เล็ก ขอให้ติดต่อที่ฝ่ายบุคคลเพื่อข้อมูลที่ชัดเจนต่อไป

เล็ก ขอความร่วมมือจากทุกคนให้ช่วยกันทำงานในหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดจนวันสุดท้าย เล็ก ขอขอบคุณพนักงานทุกคน จากใจ ที่ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจมาโดยตลอด ถ้าไม่มีพวกเรา ปาร์คนายเลิศ จะไม่สามารถยืนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ และสุดท้ายเล็กขอฝากปาร์คนายเลิศให้อยู่ในหัวใจและความทรงจำที่ดีของทุกคนตลอดไป"\

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.posttoday.com/biz/news/457272

28/09/59 อุตสาหกรรมหนังสือดิ้นสู้ปัจจัยลบผุดคอมมูนิตี้รับเทรนด์คนรุ่นใหม่....


ประจำวันที่ 28/09/59


โดย...จะเรียม สำรวจ....
แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมหนังสือในปีนี้ยังคงอยู่ในภาวะทรงตัวเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคยังคงชะลอการจับจ่ายใช้สอยในการซื้อหนังสือ เพราะหนังสือไม่ถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่จำเป็นที่ผู้บริโภคต้องซื้อใช้ในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ การที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ส่งผลให้ปริมาณการอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มมีการปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังสือไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหนังสือ หรือผู้ประกอบการร้านหนังสือ ต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค
ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า จากสภาพสังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ทางสมาคมได้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคในการเข้าร้านหนังสือ และจากการทาวิจัยทำให้พบว่า ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มนักอ่านตัวยงไม่ได้มีอัตราการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เพราะว่ากลุ่มผู้ที่เคยอ่านหนังสือก็ยังคงอ่านหนังสือเหมือนเดิม แต่ประเภทของหนังสือที่อ่านจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ทั้งนี้ กลุ่มผู้อ่านส่วนใหญ่ที่เริ่มอ่านหนังสือจะเริ่มที่ประเภทนวนิยายก่อน หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจและช่วงชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น เรียนหนัก หรือเปลี่ยนงานใหม่ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการเลือกซื้อหนังสืออ่านที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในช่วงนั้น และช่องทางออนไลน์ก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้นักอ่านมีช่องทางในการอ่านมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่อ่านหนังสือในช่องทางออนไลน์ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่มกับผู้ที่อ่านหนังสือเป็นรูปเล่ม เพราะกลุ่มที่นิยมอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มจะไม่นิยมอ่านหนังสือในรูปแบบออนไลน์ เช่นเดียวกับกลุ่มที่อ่านหนังสือออนไลน์จะไม่นิยมอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มเช่นกัน
อย่างไรก็ดี จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมือ โดยเฉพาะเจ้าของร้านหนังสือที่อาจจะต้องมีการปรับรูปแบบของการทำการตลาดใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางของร้านให้ตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการสร้างคอมมูนิตี้ เอ็นเกจเมนท์ ของกลุ่มผู้อ่าน ด้วยการจัดโซนให้นั่งอ่านหนังสือพร้อมบริการคาเฟ่ภายในร้าน เพื่อรองรับกิจกรรมของกลุ่มผู้อ่าน รวมไปถึงการปรับรูปแบบร้านให้มีบริการในกึ่งโค-เวิร์กกิ้งสเปซ เพื่อรองรับเทรนด์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ ควรมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นในภาพรวม ด้วยการเจาะไปที่หนังสือบางประเภทที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ได้ง่าย เช่น นิยายและวรรณกรรม เพราะหนังสือดังกล่าวจะเป็นหนังสือที่คนจะเริ่มอ่านเป็นประเภทแรก
จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า ปัจจุบันหนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ หนังสือที่เกี่ยวกับหุ้น เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ผู้บริโภคจึงให้ความสนใจหนังสือประเภทที่ทาอย่างไรจะให้รวยขึ้น แต่ถ้าหากมองหนังสือที่มียอดขายมากที่สุดในปีนี้ยังคงเป็นกลุ่มนวนิยาย เนื่องจากสามารถอ่านได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังสือในปีนี้ยังคงอยู่ในภาวะทรงตัวเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่เอื้อต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม ประกอบกับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสนับสนุนในเรื่องของการอ่านมากนัก เห็นได้จากการอนุมัติงบสนับสนุนในด้านของการซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดลดลง ซึ่งจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าวจึงทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังสือในปี 2559 นี้ยังคงมีมูลค่าประมาณ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท
แม้ว่าอุตสาหกรรมหนังสือในปีนี้จะยังไม่มีอัตราการเติบโต แต่อุตสาหกรรมหนังสือก็ยังคงต้องขับเคลื่อนไป โดยล่าสุดได้มีการรวมตัวกันจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 ระหว่าง วันที่ 13-24 ต.ค.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด "เสนอหน้า" ภายในงานจะมีสำนักพิมพ์เข้าร่วมงานประมาณ 406 ราย รวม 934 บูธ บนพื้นที่ 2.1 หมื่น ตร.ม.
จรัญ กล่าวอีกว่า ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติปีนี้จะมีการนำหนังสือคุณภาพราคา 20 บาท มาจำหน่ายเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นความสนใจผู้อ่าน ซึ่งหลังจากจบการจัดงานดังกล่าวคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน และมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท แม้ว่าจะปรับตัวลดลงจากปี 2552-2553 ที่มีเงินสะพัดสูงถึง 800 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัวอยู่ในขณะนี้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.posttoday.com/biz/news/457054


วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

(Investment Credit)


สินเชื่อเพื่อการลงทุนหรือสินเชื่อระยะยาว (Investment Credit) 

เป็นการจัดหาเงินทุนระยะยาวโดยการกู้ยืมเพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์ถาวรและนำไปใช้ในการดำเนินงานของกิจการได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์และสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ นอกจากนี้ยังอาจนำมาใช้เป็นทุนดำเนินงานถาวร (permanent working capital)  ของกิจการ คือใช้ซื้อสินค้าและขยายจำนวนสินค้าคงเหลือเพื่อขายเชื่อและใช้เป็นทุนหมุนเวียนตลอดไปก็ได้ ผู้กู้จะทำหลักฐานสัญญาว่าจะใช้คืนเงินกู้ในอนาคตแก่ผู้ให้กู้โดยระบุจำนวนเงินต้นและอัตราดอกเบี้ยในรูปของพันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือหุ้นกู้ ซึ่งแบ่งออกได้หลายชนิดเช่น หุ้นกู้มีหลักประกัน หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน หุ้นกู้แปลงสภาพ หุ้นกู้จำนองเป็นต้น โดยทั่วไปการกู้ระยะยาวผู้ให้กู้ต้องการหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยงภัย สินเชื่อเพื่อการลงทุนจะมีระยะเวลาตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ในทางปฏิบัติอายุการใช้งานของสินทรัพย์ที่ได้มาจากการใช้สินเชื่อและความมั่นคงของกิจการจะถูกนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อเป็นพื้นฐาน


วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

15/09/59 เอ็มซิมแบงก์ปล่อยกู้“เชาว์สตีล”ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น


ประจำวันที่ 15/09/59

“เอ็กซิมแบงก์”ปล่อยกู้กลุ่ม"เชาว์ สตีล" 3,360 ล้านบาท ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น


นายพิศิษฐ์  เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ร่วมลงนามกับ นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นางสาว คู เมน ไว กรรมการ และนายสงวนเกียรติ์ ลิ่วมโนมนต์ กรรมการ บริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยภายใต้กลุ่มบริษัท เชาว์ สตีล ในสัญญาสนับสนุนทางการเงินของเอ็กซิมแบงก์ 9,880 ล้านเยน หรือประมาณ 3,360 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 38 เมกะวัตต์ (MW)

จนถึงปัจจุบันเอ็กซิมแบงก์ สนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้ในการขยายการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มบริษัท เชาว์ สตีล รวมแล้วกว่า 47 MW  ซึ่งเมื่อรวมกับกำลังการผลิตปัจจุบันที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จะทำให้กลุ่มบริษัท เชาว์ สตีล มีกำลังการผลิตในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70 MW 

ทั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นปัจจุบัน ที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ภายหลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองฟุกุชิมา ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 24% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2573 

ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ชีวมวล และความร้อนใต้พิภพยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 12% จึงเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทยที่จะขยายการลงทุนด้านพลังงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มบริษัท เชาว์ สตีล ถือเป็นกลุ่มนักลงทุนไทยรายแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นมานานกว่า 2 ปี และมีเป้าหมายขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 20 ปี 

ขณะที่ เอ็กซิมแบงก์ มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้นักลงทุนไทยขยายฐานการลงทุนไปยังต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/718134

12/09/59 ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป ร่วมโครงการสินเชื่อไทยพาณิชย์ มุ่งดึงดูดนักลงทุนจีน


ประจำวันที่ 12/09/59

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใต้โครงการสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินประกอบธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการด้านสินเชื่อและบริการของธนาคารแก่กลุ่มนักธุรกิจชาวจีนที่ต้องการลงทุนซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของเหมราชได้สะดวก รวดเร็ว และสามารถดำเนินธุรกิจได้คล่องตัว พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมงานแถลงข่าวความร่วมมือในโครงการสินเชื่อฯ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaipr.net/finance/725079 

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

9/09/59 สินเชื่อกรุงศรีโฮมฟอร์แคช รุกตลาดจับมือดีเวลลอปเปอร์ท้องถิ่น


ประจำวันที่ 9/09/59

ดอกเบี้ยขาขึ้น! ธ.กรุงศรี โชว์ผลงานธุรกิจสินเชื่อบ้านครึ่งปีแรก 2559 เติบโตแข็งแกร่ง ยอดสินเชื่อใหม่ทะลุ 3 หมื่นล้าน มั่นใจตลาดครึ่งปีหลังขยายตัวต่อเนื่อง ดัน“โฮมฟอร์แคช” จับมือดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำ 6 รายใหญ่ เสนอแคมเปญอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% นาน 5 ปี

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในครึ่งปีแรก 2559 ธุรกิจสินเชื่อบ้านกรุงศรีเติบโตแข็งแกร่ง โดยมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 34,000 ล้านบาท สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่า 180,479 ล้านบาท เติบโต 12.7% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2558 เป็นผลจากการเดินหน้าปรับกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ เน้นการให้บริการ และเสริมทีมขาย พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ ดีเวลลอปเปอร์และกลุ่มลูกค้าได้ดีขึ้น

กลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีหลัง กรุงศรีจะมุ่งขยายตลาดไปยังกลุ่มดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำในระดับท้องถิ่นตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ และผลักดันผลิตภัณฑ์ทางเลือก “โฮมฟอร์แคช” (Home for Cash) สินเชื่ออเนกประสงค์ที่ช่วยตอบโจทย์ลูกค้ารายย่อย หรือผู้ประกอบการที่ต้องการเสริมสภาพคล่อง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่และเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า นอกจากนี้กรุงศรีได้ร่วมกับดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำ 6 รายใหญ่ นำเสนอแคมเปญอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% ระยะเวลา 5 ปี และอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ระยะเวลา 7 ปี เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในการวางแผนการเงินระยะยาว ในช่วงที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอีกด้วย”

เราเน้นสร้างความแตกต่างในด้านผลิตภัณฑ์ และไม่แข่งขันเรื่องราคา รวมทั้งยังคงเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อตามปกติ และรักษาระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไว้ในระดับ 2.6%”

ส่วนแนวโน้มตลาดสินเชื่อบ้านในช่วงครึ่งปีหลังยังคงเติบโตต่อเนื่องจากหลายปัจจัยหนุน ทั้งทิศทางเศรษฐกิจในประเทศที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เม็ดเงินลงทุนภาครัฐทยอยเข้าสู่ระบบ ขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมากมีสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาระหนี้จากโครงการรถยนต์คันแรกทยอยครบกำหนด ในเดือนกันยายนนี้ ส่งผลให้กำลังซื้อเริ่มกลับมาบางส่วน อีกทั้งจะมีคอนโดมิเนียมที่รอโอนจำนวนมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ddproperty.com/ข่าวอสังหาริมทรัพย์-บทความ /2016/9/135229/สินเชื่อกรุงศรีโฮมฟอร์


7/09/59 ขึ้นบัญชีดำ 1,000 อุตสาหกรรม กสิกรไทยชี้มีความเสี่ยงสูงแบงก์ไม่ปล่อยกู้


ประจำวันที่ 7/09/59


แบงก์กสิกรไทยชี้อุตสาหกรรมไทย 1 ใน 4 เสี่ยงสูง หรือมี 1,000 อุตสาหกรรมที่ถูกขึ้นบัญชีจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและธนาคารไม่ปล่อยกู้จากทั้งหมด 4,000 อุตสาหกรรม ล่าสุดถูกขึ้นบัญชีเสี่ยงเพิ่มอีก 108 อุตสาหกรรม เบรกปล่อยกู้กลุ่มเหล็ก-จิวเวลรี่-พืชไร่และเกษตรกรรายเล็ก ขณะที่ปัญหาขาดสภาพคล่องเอสเอ็มอีเริ่มคลี่คลาย ด้านธุรกิจโรงแรมอ่วมเจอพิษทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีนกดค่าห้องจนขาดสภาพคล่อง

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดหมวดหมู่อุตสาหกรรมในประเทศไทยออกเป็น 4,000 อุตสาหกรรม พบว่ามีอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง ที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นอีก 108 อุตสาหกรรม จากเดิมมีอุตสาหกรรมที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง 1,000 อุตสาหกรรม โดยหมวดอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่ธนาคารระมัดระวังไม่ปล่อยสินเชื่อได้แก่ เหล็ก อัญมณีหรือจิวเวลรี่ พืชไร่ และเกษตรกรรายเล็ก ประเมินว่าอุตสาหกรรมที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง และแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อจะกลับสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลา 3-4 ปี

อุตสาหกรรมเหล็กธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ปี 57 ลูกค้าเดิมที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร เมื่อครบกำหนดก็ไม่มีการปล่อยกู้เพิ่ม ส่วนธุรกิจอัญมณีที่มีความเสี่ยง เนื่องจากราคานำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศกับราคาส่งออกไม่ตรงกัน”

นายพัชรยังกล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมไทยเป็นอีกธุรกิจที่มีความเสี่ยงมีปัญหาสภาพคล่อง หลังได้รับผลกระทบจากปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีมานี้ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนมากจะขอสินเชื่อจากธนาคารไปสร้างโรงแรม เพื่อรับนักท่องเที่ยวจากจีนที่กำลังขยายตัว แต่ปรากฏว่าเมื่อสร้างเสร็จ ไม่สามารถขายห้องพักได้ตามแผน เพราะถูกทัวร์จีนกดราคา เช่น ราคาห้องที่แท้จริง 5,000 บาท แต่ขายได้เพียง 2,000 บาท หากไม่ยอมขายในราคาต่ำ ก็จะไม่ส่งนักท่องเที่ยวมาเข้าพัก ส่งผลให้มีโรงแรมหลายแห่งเริ่มหมุนเงินไม่ทัน ต้องนำเงินที่กู้เผื่อไว้สำหรับใช้ปรับปรุงตกแต่งโรงแรมไปเป็น เงินหมุนเวียนแทน ส่งผลให้ความต้องการขอกู้ของผู้ประกอบการโรงแรมเพื่อไปลงทุนใหม่ไม่มี แต่ส่วนใหญ่จะขอกู้เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องแทน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการปล่อยกู้ลูกค้าโรงแรมทั้งหมด 6% จากพอร์ตสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่และเอสเอ็มอีทั้งหมด 1.1 ล้านล้านบาท

สำหรับธุรกิจที่มีอนาคตและธนาคารต้องการสนับสนุนสินเชื่อได้แก่ รับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ที่ได้รับอานิสงส์จากการก่อสร้างโครงการภาครัฐ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารและเครื่องดื่ม และฮาร์ดแวร์ เป็นต้น
นายพัชรกล่าวอีกว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี ได้ลดลงไปมากโดยผู้ประกอบการปรับตัวรับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ดีขึ้น เห็นได้จากมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ปี 57 ถึงปัจจุบัน มียอดสินเชื่อที่เข้ามาตรการช่วยเหลือ 149,000 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างของลูกค้าที่เข้ามาตรการ 24,000 ล้านบาท และมีหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการแล้วสามารถกลับมาผ่อนชำระปกติคิดเป็น 97% ของยอดสินเชื่อที่เข้ามาตรการ โดยมีหนี้เสียที่เกิดขึ้นจริงๆ เพียง 3% เท่านั้น หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่อราว 5,000 ล้านบาท ที่ลูกค้าไม่ สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ต้องเข้าสู่ขบวนการยึดทรัพย์

เอ็นพีแอลของสินเชื่อเอสเอ็มอีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้าง แต่หลังจากนั้นเอ็นพีแอลจะเริ่มปรับตัวลง ดังนั้นสถานการณ์เอ็นพีแอลไม่น่าห่วง เนื่องจากเลยจุดที่เอ็นพีแอลปรับเพิ่มอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 57”

สำหรับผลการดำเนินงานของสายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัทที่ดูแลลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ณ 30 มิ.ย.59 เติบโตมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 512,137 ล้านบาท เติบโต 9% จากสิ้นปี 58 สูงกว่าเป้าหมายทั้งปี 6 % ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังต้องควบคุมการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ ส่วนลูกค้าผู้ประกอบการหรือเอสเอ็มอี ในครึ่งปีแรกมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 628,693ล้านบาท เติบโต 2% จากสิ้นปี 58 และมั่นใจว่าสิ้นปีนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีโตตามเป้าหมายที่ 5-7 % อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลของสินเชื่อรายใหญ่ต่ำกว่า 2% และเอ็นพีแอลสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ 4%.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thairath.co.th/content/714543

6/09/59 กสิกรฯเตรียมลดปล่อยสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่


ประจำวันที่ 6/09/59




กสิกรไทยเผยครึ่งปีหลังเตรียมลดปล่อยสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากยอดสินเชื่อคงค้างเติบโตร้อยละ 9

วันนี้ (6 ก.ย. 59) นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของสายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัทที่ดูแลลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ 30 มิ.ย. 2559 โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 512,137 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 9 จากสิ้นปี 2558 เติบโตมากกว่าเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ร้อยละ 4-6 ขณะที่ธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ (เอสเอ็มอี) ในครึ่งปีแรกมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 628,693 ล้านบาท เติบโต 2% จากสิ้นปี 2558 และคาดว่าทั้งปีจะโตร้อยละ 7-9

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ธนาคารจะพยายามควบคุมการปล่อยสินเชื่อเพื่อไม่ให้ยอดเติบโตทั้งปีเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งคาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีเงินจากบรรษัทเข้ามาทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างลดลง รวมถึงจะเข้มงวดและพิจารณาการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มสินค้าเกษตร และจิวเวลรี่ เนื่องจากมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=112708&t=news

6/09/59 KBANK ยังมั่นใจปีนี้สินเชื่อรายใหญ่โตเข้าเป้า 4-6% และสินเชื่อ SME โต 5-7%


ประจำวันที่ 6/09/59

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ยังมั่นใจสินเชื่อรายใหญ่ในปีนี้จะเติบโตตามเป้าหมายที่ 4-6% และสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เติบโต 5-7% หลังจากครึ่งปีแรกสายงานธุรกิจยังเติบโตได้ตามเป้า โดยสนเชื่อลูกค้ารายใหญ่เติบโต 9% สวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วน SME เติบโตแล้ว 2% ซึ่งอุตสาหกรรมเด่นครึ่งปีแรกของธนาคาร ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง ค้าวัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ และฮาร์ดแวร์



นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ KBANK ยังมั่นใจว่าเป้าหมายสินเชื่อรายใหญ่ในปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 4-6% หลังจากในครึ่งปีแรกขยายตัวแล้ว 9% ซึ่งมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 5.12 แสนล้านบาท โดยแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อรายใหญ่ในครึ่งปีหลังยังเป็นไปในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนเพิ่มของธุรกิจขนาดใหญ่ และการเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้ธุรกิจรายใหญ่ยังมีความต้องการสินเชื่อ

และด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อรายใหญ่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากและยังไม่น่ากังวล แต่ธนาคารจะพยายามควบคุม NPL ของสินเชื่อรายใหญ่ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2%

ส่วนสินเชื่อ SME ยังมั่นใจว่าการเติบโตยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ 5-7% แม้ว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านจะเติบโตเพียง 2% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 6.28 แสนล้านบาท โดยในครึ่งปีหลังธนาคารจะมุ่งเน้นการดูแลลูกค้า SME ในทุกห่วงโซ่ธุรกิจ (Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ธุรกิจ SME มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยธนาคารจะเน้นใน 3 ธุรกิจหลัก คือ การบริโภค อุตสาหกรรมหนัก และโครงสร้างพื้นฐาน ให้ได้รับเงินทุน ทั้งแหล่งเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียน และช่วยเหลือในการเป็นที่ปรึกษาการบริหารการเงินและการเดินบัญชี เพื่อช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีสภาพคล่องที่ดีและมีความสามารถในการกูยืมเพิ่มมากขึ้น

แต่ในส่วนของลูกค้าที่ได้รีบผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 57 ถึงปัจจุบันนั้น มียอดสินเชื่อที่เข้ามาตรการช่วยเหลืออยู่ในปัจจุบันที่ 2.4 หมื่นล้านบาท จากในช่วงเริ่มต้นที่ 1.49 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่เห็นการปรับตัวลดลงและสะท้อนว่าธุรกิจ SME เริ่มรับมือกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้ดีขึ้น

ปัจจุบันยังมองว่าผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงชะลอการลงทุน และเริ่มลดหนี้ให้เหลือน้อยมากที่สุด เพื่อควบคุมต้นทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน และด้าน NPL ของสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้จะควบคุมให้อยู่ในระดับ 4-5%

สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารที่มีการระดมทุนในตลาดทุนนั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ธนาคารยังมีงานที่ปรึกษาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) อีก 1-2 รายเป็นกลุ่มธุรกิจพลังงานและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ทั้งหมด รวมถึงมีงานที่ปรึกษาการเสนอขาย IPO ของกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริทรัพย์ (REIT) 2 กอง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานและโรงงานหรือคลังสินค้าให้เช่า มูลค่ากองรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นายพัชร กล่าวว่า ธนาคารยังมองว่าแม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,500 จุด ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการเสนอขาย IPO เพราะธนาคารมองว่านักลงทุนต่างให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนมากทั้งนักลงทุนในไทยและต่างประเทศ รวมถึงกระแสเงินทุนที่ยังมีทิศทางไหลเข้า ซึ่งจะช่วยให้ผลักดันดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งการปรับตัวลงแรงของดัชนีตลาดหุ้นไทยนั้นเป็นแค่ผลกระทบระยะสั้น และไม่มีผลต่อการเลื่อนเสนอขาย IPO ของลูกค้าธนาคาร

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีงานที่ปรึกษาการควบรวมกิจการ (M&A) ในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 3-6 ดีล เป็นกลุ่มธุรกิจประเภทลีสซิ่ง รับเหมาก่อสร้าง และโลจิสติกส์ รวมทั้งการออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีก 10 บริษัท

ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกธนาคารมีงานที่ปรึกษาการเสนอขาย IPO และออกกอง REIT มูลค่ากว่า 8.08 พันล้านบาท โดยยังครองความเป็นอันดับ 1 ในการเสนอขาย IPO และกอง REIT

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ryt9.com/s/iq05/2503275